สกุลเงินดิจิทัลเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่

ภาพจำลองรูปแบบของเหรี่ยญสกุลเงินดิจิทัล จาก Financial Times


Highlights:

  • สกุลเงินดิจิทัลเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบหนึ่ง เกิดขึ้นจากความพยายามปลดปล่อยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จากบุคคลที่สามหรือสถาบันการเงิน
  • กลไกการทำงานสกุลเงินดิจิทัลดำเนินการภายใต้ชุดเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยที่เรียกว่า “บล็อกเชน” ซึ่งเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องความไว้วางใจ (Trust) ในการชำระเงินผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจ่ายเงินซ้ำ (Double-spending problem) และปัญหาเรื่องความปลอดภัยจากการถูกแทรกแซงกลไกทางบัญชี
  • สกุลเงินดิจิทัลโดยสภาพอาจไม่ใช่การก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นแชร์ลูกโซ่เสมอไปขึ้นกับอยู่กับกลไก และความมุ่งหมายของคนทำงานที่อยู่เบื้องหลัง
  • บทความนี้ผู้เขียนปรับปรุงมาจากบทความที่นำเสนอที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งเป็นที่ทำงานเก่าของผู้เขียน

จากสถานการณ์ความร้อนแรงของราคาซื้อ-ขายบิทคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งดึงดูดความสนใจของนักลงทุนเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าบิทคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลจะไม่ใช่ของใหม่ในโลก แต่ก็ยังเป็นของใหม่ในประเทศไทย ทำให้เป็นการเปิดช่องให้มิจฉาชีพอาจอาศัยความไม่รู้ของประชาชนในการแสวงหาผลประโยชน์ โดยมีสกุลเงินดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง บทความนี้จะนำเสนอรูปแบบของการการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือแชร์ลูกโซ่

สกุลเงินดิจิทัลนั้นเป็นหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบหนึ่ง การเกิดขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นเพื่อต้องการปลดปล่อยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จากบุคคลที่สามอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงิน ตามปกตินั้นในการทำธุรกรรมจำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอเพื่อทำให้ธุรกรรมนั้นเกิดขึ้น โดยบุคคลที่สามจะได้รับผลตอบแทนในการช่วยให้ธุรกรรมเกิดขึ้นเป็นค่าธรรมเนียม แนวคิดของสกุลเงินดิจิทัลจึงเกิดขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology) เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจ่ายเงินซ้ำ (Double-spending Problem) ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถทำให้สามารถส่งผ่านมูลค่าโดยไม่ต้องอาศัยบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำธุรกรรม

พฤติการณ์ที่จะเป็น “แชร์ลูกโซ่” หมายถึง ธุรกิจที่เชื้อเชิญให้คนเอาเงินมาลงทุน โดยอ้างว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนกลับไปในอัตราที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง แต่ตัวธุรกิจนั้นไม่มีการประกอบกิจการที่จะสร้างผลตอบแทนด้วยตัวของธุรกิจเอง ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนนั้นมาจากการชักชวนสมาชิกคนใหม่ให้เข้ามาลงทุน เพื่อนำเงินลงทุนจากสมาชิกรายใหม่มาหมุนเวียนจ่ายให้สมาชิกรายก่อน ๆ ดังนั้น หากเพียงแค่ทำการซื้อสกุลเงินดิจิทัลมาและขายไปนั้นยังไม่เป็นแชร์ลูกโซ่แต่อย่างใด

จากการศึกษาลักษณะของสกุลเงินดิจิทัลที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่ได้ใน 3 ลักษณะ ดังนี้

1. อาศัยวิธีการเชิญชวนให้มาร่วมลงทุนโดยอ้างว่าจะนำเงินนั้นไปลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องการสกุลเงินดิจิทัล เช่น นาย ก. เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปนำเงินมาลงทุนคนละ 10,000 บาท โดยอ้างว่าจะเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในกิจการเหมืองขุดเหรียญเงินดิจิทัล หรือนำมารวมเป็นกองกลางเพื่อเก็งกำไรในสกุลเงินดิจิทัล โดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนกลับมาในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนของเงินลงทุน เป็นต้น แท้จริงแล้วการประกอบกิจการดังกล่าวนั้นไม่สามารถการันตีผลตอบแทนได้ เพราะกิจการดังกล่าวนั้นมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามากระทบ เช่น จำนวนของเงินดิจิทัลที่ได้จากการขุดเหรียญเงินดิจิทัล หรือปัจจัยที่มากระทบต่อราคาของเงินดิจิทัลที่มีความผันผวน

2. การลุงทุนในสกุลเงินดิจิทัลที่มีลักาณะคล้ายคลึงกับธุรกิจขายตรงที่แอบแฝงแชร์ลูกโซ่ กล่าวคือ มิจฉาชีพจะตั้งบริษัทขึ้นมา ทำการตลาดว่าบริษัทของตนสร้างสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมาสกุลหนึ่ง และอ้างว่าสกุลเงินดิจิทัลนั้นโดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน (ในความเป็นจริงอาจใช้อย่างอื่น เช่น ภาษา SQL) หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะทำการเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจสมัครสมาชิกกับบริษัท ซึ่งเมื่อเป็นสมาชิกแล้วจะมีสิทธิแลกซื้อเหรียญดิจิทัลและมีสิทธิเพิ่มจำนวนเหรียญ อย่างไรก็ตามผลกำไรหรือผลตอบประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนนั้นไม่ได้เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่กำไรหรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้นมาจากระบบการเชื้อเชิญคนให้เข้ามาเป็นสมาชิก บริษัทจะกำหนดผลตอบแทนในการชักชวนสมาชิกใหม่ให้เขามาลงทุนเอาไว้ เช่น ผู้ลงทุนจะได้รับเงินจำนวนร้อยละ 20 จากค่าสมัครสมาชิก ยิ่งสามารถหาจำนวนสมาชิกเพิ่มได้มากเท่าไร และสร้างลำดับสมาชิกทั้งในแบบอัพไลน์ (Up-line) หรือดาวน์ไลน์ (Down-line) หากจำนวนสมาชิกมากเท่าไรก็ยิ่งได้ผลตอบประโยชน์ตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งบริษัทก็จะนำเงินค่าสมัครสมาชิกรายใหม่มาหมุนเวียนจ่ายให้กับสมาชิกรายก่อน ๆ ตัวอย่างของกรณีนี้ คือ Onecoin

3. มิจฉาชีพอาศัยกลไกตลาดเป็นเครื่องมือ กล่าวคือ บริษัทผู้ผลิตสกุลเงินดิจิทัลได้ทำการโฆษณาเชิญชวนให้นักลงทุนสนใจมาลงทุนซื้อสกุลเงินดิจิทัลของบริษัทตน โดยอ้างว่าเป็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มหรือนวัตกรรมบางอย่าง แต่แท้ที่จริงแล้วผู้ผลิตสกุลเงินดิจิทัลไม่ได้มีเจตนาจะพัฒนาอะไรทั้งสิ้น หากแต่ต้องการใช้กลไกตลาดสร้างอุปสงค์เทียม (ฟองสบู่) จากการเก็งกำไรขึ้นมา ให้นักลงทุนทำการซื้อขายไปเรื่อย ๆ เนื่องจากสกุลเงินดิจิทัล กำไรหรือผลประโยชน์ตอบแทนไม่ได้มาจากการประกอบกิจการใด ๆ หากแต่กำไรหรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้นมาจากส่วนต่างที่เกิดจากราคาซื้อขายของสกุลเงินดิจิทัล ราคาของสกุลเงินดิจิทัลมีความเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์ในการถือครองเงินสกุลดิจิทัลสกุลในตลาด หากความต้องการเงินสกุลดิจิทัลในตลาดในขณะนั้นมีอยู่มากราคาของสกุลเงินดิจทัลจะสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินตราหลัก ในทางตรงข้ามกหากอุปสงค์ในการถือครองสกุลเงินดิจิทัลในตลาดนั้นลดลง ราคาของสกุลเงินดิจิทัลก็จะลดลงเช่นกัน ดังนั้น ราคาของสกุลเงินดิจิทัลจึงมีความผันผวนสูงแปรเปลี่ยนไปตามอุปสงค์ในตลาด แม้ว่าผู้ผลิตสกุลเงินดิจิทัลไม่ได้รับประกันใด ๆ ว่า เงินดิจิทัลที่ซื้อไปแล้วนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หากแต่ผู้ซื้อหรือนักลงทุนเองก็เชื่อว่ามูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเกิดจากการอาศัยกลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการชักจูงให้มาลงทุน ซึ่งผู้ผลิตเงินดิจิทัลย่อมทราบดีอยู่แก่ใจว่านักลงทุนที่ซื้อเงินดิจิทัลไปนั้น เพราะคาดหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งความคาดหวังนี้เองทำให้เป็นการชักชวนนักลงทุนรายใหม่ ๆ เข้ามาซื้อสกุลเงินดิจิทัลเพื่อเก็งกำไรไปเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงนี้กระแสของการเสนอขายเหรียญดิจิทัล (Initial Coin Offering, ICO) กำลังเป็นที่นิยมก็น่าตั้งข้อสังเกตว่าการทำ ICO นั้นเหมือนเหรียญสองด้าน ในด้านหนึ่งการระดมทุนโดยใช้วิธี ICO นั้นเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบ เช่น ในแง่ความสะดวกในการระดมทุนและไม่กระทบต่อโครงสร้างของบริษัท เป็นต้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ท้าทายบทบาทของรัฐในการเข้ามากำกับดูแลซึ่งภาครัฐควรมองปัญหาให้รอบด้านและทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพราะหากกฎหมายที่ออกมาเข้มงวดและเป็นอุปสรรคแก่การทำ ICO ก็จะกระทบต่อการพัฒนาในอุตสาหกรรมด้านนี้ ในขณะที่ถ้าภาครัฐหย่อนยานจนเกินไปก็อาจจะนำไปสู่ช่องทางของการก่ออาชญากรรมได้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหากมีการนำสกุลเงินดิจิทัล ไปใช้ในลักษณะเกี่ยวกับการระดมทุน อาจจะเข้าลักษณะของการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ
พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตในการประกอบกิจการทั้งหมด

กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันแม้ว่าการซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัลอาจจะไม่เข้าข่ายผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนภายใต้ข้อกฎหมายที่ระบุไว้ แต่ความเสี่ยงในการลงทุนนั้นสูงมาก ผู้ใดที่ต้องการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลรวมถึงกรณีของ ICO ที่บริษัทต่าง ๆ ออกมาประกาศขายในปัจจุบัน ต้องทำการศึกษาถึงตัวผลิตภัณฑ์ให้ถ่องแท้ และให้รู้ถึงกระบวนการของบริษัทว่าผลิตสกุลเงินดิจิทัล (Digital Token) และจะได้รับผลตอบแทนอย่างไร แม้ว่ารัฐจะอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมายควบคุมการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนจะได้รับความคุ้มครองจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนทุกกรณี

กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจคืออะไร
โครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน