บทบาทของธนาคารไทยในความสัมพันธ์ทางการเมือง

ธนาคารเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญในโลกสมัยใหม่ ทว่าในประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งธนาคารนั้น มีลักษณะที่เฉพาะไม่เหมือนธุรกิจอื่น กล่าวคือ ธนาคารเป็นธุรกิจนำเข้ามาจากประเทศตะวันตก และเมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็มีผู้เชี่ยวชาญไม่มากนัก กลุ่มผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงเป็นนักธุรกิจพ่อค้าชาวจีนมากกว่า แต่ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่กีดกันและลดบทบาทของพ่อค้าชาวจีน ทำให้นักธุรกิจพ่อค้าชาวจีนต้องแสวงหาความช่วยเหลือและความคุ้มครองทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางการเมืองกับธนาคารจึงเริ่มต้นขึ้นมาจากจุดนั้น

การเริ่มต้นกิจการธนาคารขึ้นในประเทศไทย

ระบบธนาคารนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยนำเข้ามาจากประเทศตะวันตก ซึ่งก่อนจะมีการจัดตั้งธนาคารขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะในประเทศไทยนั้น ในระยะแรกบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยได้มาพร้อมกับบริษัทตัวแทนธนาคารพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น บริษัท วินเซอร์ จำกัด เป็นบริษัทตัวแทนธนาคารเมอร์แคนไทล์ของประเทศอังกฤษ  อย่างไรก็ตาม เมื่อการค้าและพาณิชย์ขยายตัว การอาศัยเฉพาะบริษัทตัวแทนธนาคารพาณิชย์เท่านั้นไม่เพียงพออีกต่อไป ธนาคารของชาติตะวันตกจึงได้เข้ามาลงทุนและประกอบกิจการในประเทศไทย โดยธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่เปิดกิจการในประเทศไทย คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งได้เปิดสำนักงานในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2431 หลังจากนั้นในเวลาต่อมาก็มีธนาคารของประเทศตะวันตกเข้ามาจัดตั้งในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก เช่น ธนาคารชาร์เตอร์ด ธนาคารเมอร์แคนไทล์ และธนาคารอินโดจีน เป็นต้น

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 25 ความสนใจเกี่ยวกับกิจการธนาคารในแวดวงคนไทยยังมีอยู่อย่างจำกัดในขณะนั้น จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2447 (4 ตุลาคม พ.ศ. 2447) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันตมงคล) เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ตามเสด็จประพาสยุโรปและศึกษาดูงานการธนาคารมาเป็นเวลา 9 เดือน ได้ทรงจัดตั้ง “บุคคลัภย์” (Book club) โดยมีเงินทุน 30,000 บาท และใช้ตึกแถวของพระคลังข้างที่แถวบ้านหม้อเป็นสำนักงาน โดยเบื้องหน้าเปิดเป็นห้องสมุด และเบื้องหลังดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินโดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อบุคคลัภย์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยได้ทรงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษจัดตั้ง “บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” ขึ้นมาเป็นธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยแห่งแรก 

นอกเหนือจากบุคคลัภย์แล้ว กิจการธนาคารสัญชาติไทยอีกแห่งหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้นมาคือ “คลังออมสิน” ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคลังออมสิน พุทธศักราช 2456 โดยขึ้นตรงต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีสถานะเป็นส่วนราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีความพยายามขยายกิจการของคลังออมสินออกไป จึงได้มีการโอนกิจการคลังออมสินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ไปสังกัดยังกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงระยะแรกของการจัดตั้งธนาคารในประเทศไทย จึงมีลักษณะเป็นธนาคารพาณิชย์ของต่างชาติหรือธนาคารซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยเชื้อพระวงศ์ระดับสูงหรือเป็นส่วนหนึ่งของส่วนราชการ แม้ในช่วงหลังจะมีธนาคารของพ่อค้าชาวจีนเกิดขึ้นบ้างแล้วก็ตาม ซึ่งสาเหตุประการหนึ่งเนื่องมาจากกิจการธนาคารเป็นกิจการควบคุมที่จะต้องได้รับอนุญาตจากเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเสียก่อน ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พุทธศักราช 2471

ความเปลี่ยนแปลงของกิจการธนาคารไทย

เมื่อมีการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย กิจการธนาคารพาณิชย์โดยส่วนใหญ่มีลักษณะไม่แตกต่างไปจากสภาพก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากเท่าใดนัก สำหรับในมุมมองของรัฐกิจการธนาคารยังคงเป็นกิจการควบคุมที่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีจากการประกอบกิจการธนาคารเช่นกัน โดยรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัยพุทธศักราช 2475 ขึ้นมา เพื่อจัดเก็บภาษีจากการประกอบกิจการทั้งสอง เป็นการลดบทบาทของธนาคารขนาดเล็กที่ไม่สามารถจ่ายภาษีได้ทำให้ต้องยุติการประกอบกิจการไป

จุดเปลี่ยนสำคัญของกิจการธนาคารเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2480 เมื่อรัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคารพุทธศักราช 2480 ซึ่งได้ออกมายกเลิกบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ คือ กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งและการประกอบกิจการธนาคารที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การกำหนดให้ธนาคารจะต้องมีเงินทุนซึ่งชำระแล้วของธนาคารเป็นจำนวนอย่างน้อย 200,000 บาท หรือธนาคารจะต้องมอบหลักประกันไว้กับรัฐบาลสยามเป็นจำนวนตามกฎหมายกำหนดไว้ โดยอาจเป็นเงินสดหรือหลักทรัพย์ซึ่งรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย และธนาคารซึ่งจดทะเบียนในราชอาณาจักรสยามจะต้องกันเงินอย่างน้อยร้อยละ 10 ต่อปี จากเงินกำไรสุทธิเพื่อตั้งเป็นเงินสำรอง จนกว่าเงินสำรองนี้เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนเงินทุนที่ชำระแล้ว เป็นต้น 

นอกจากข้อกำหนดในเรื่องการจัดตั้งและการประกอบกิจการแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังได้จำกัดสิทธิหลายประการของกิจการธนาคาร เช่น การห้ามปันผลแล้วมีผลทำให้เงินชำระทุนลดลง การห้ามมิให้มีอสังหาริมทรัพย์อันมิจำเป็นเพื่อใช้ในกิจการธนาคาร และการห้ามจ่ายเงินให้กรรมการธนาคารกู้ยืมโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นต้น

การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้มีผลอย่างสำคัญคือ ทำให้กิจการธนาคารที่เปิดดำเนินการในประเทศไทยหลายธนาคารต้องยุติการให้บริการลง หรือระงับการประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวหลายธนาคาร หรือถูกโอนไปเป็นของรัฐ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารของพ่อค้าชาวจีน สำหรับธนาคารของพ่อค้าชาวจีนที่ยังสามารถดำเนินงานต่อไปได้นั้นจึงเหลือเพียงแค่ธนาคารหวั่งหลี และธนาคารตันเองชุน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2482 และประเทศไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ในปี พ.ศ. 2484 ส่งผลให้เกิดความชะงักงันของบริษัทธุรกิจของชาติตะวันตก เนื่องจากกิจการของชาติตะวันตกโดยส่วนใหญ่นั้นเป็นกิจการของประเทศคู่สงคราม ทำให้กิจการธนาคารต่างชาติถูกปิดกิจการลง 

ผลของการปิดกิจการของธนาคารชาติตะวันตกนั้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องมีการปิดตัวลงของธนาคารจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้กิจการธนาคารอยู่ รัฐบาลในขณะนั้นได้พยายามชดเชยการขาดหายไปของกิจการธนาคาร ด้วยการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการธนาคาร ตัวอย่างเช่น ธนาคารแห่งเอเชียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (ธนาคารเอเชีย) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์ โดยอาศัยเงินกองทุนสวัสดิการพนักงานของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 

นอกเหนือจากธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ธนาคารของพ่อค้าชาวจีนมีความสำคัญมากขึ้น แม้ว่าในแง่หนึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลจะมีนโยบายเศรษฐกิจต่อต้านพ่อค้าชาวจีนก็ตาม ปัจจัยสำคัญนี้เกิดขึ้นมาจากการที่ธนาคารของชาติตะวันตกไม่สามารถดำเนินกิจการได้ แต่ในขณะเดียวกันความต้องการบริการทางการเงินยังคงมีอยู่ ความตระหนักในข้อนี้ทำให้ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนอย่างนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งแม้ในช่วงแรกของการเข้ามามีอำนาจทางการเมือง นายปรีดีจะเชื่อมั่นในกลไกของรัฐโดยประเมินศีลธรรมและความสามารถของรัฐเอาไว้สูง โดยเชื่อว่ารัฐจะผสานความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนได้ตามหลักภราดรภาพนิยม  

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป นายปรีดีได้เปลี่ยนความคิดในบางประการ เนื่องจากความตระหนักถึงลัทธิชาตินิยมโดยทหารที่พยายามดึงเอาอำนาจทั้งหมดเข้าสู่การตัดสินใจของรัฐบาล โดยรวมถึงอำนาจในทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เป็นภัยกับระบบการปกครองใหม่ ด้วยเหตุดังกล่าว นายปรีดีจึงได้พยายามอาศัยความรู้และความสามารถของพ่อค้าชาวจีน เพื่อให้เกิดการดุลและคานอำนาจกับการขยายตัวของรัฐวิสาหกิจ จึงเกิดการจัดตั้งธนาคารต่างๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ  ธนาคารกรุงเทพ  ธนาคารกสิกร  ธนาคารศรีนคร และธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น โดยการสนับสนุนนั้นอาศัยอิทธิพลทางการเมืองของนักการเมืองบางคนเพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจต่อต้านพ่อค้าชาวจีน

จำนวนธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งธนาคารที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น ธนาคารเอเชียของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และธนาคารมณฑลซึ่งกระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นส่วนใหญ่ เป็นต้น และยังรวมไปถึงธนาคารพาณิชย์ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าไปถือหุ้น เช่น แบงก์สยามกัมมาจล ทุน ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ “ธนาคารนครหลวงไทย” ซึ่งทั้งสองธนาคารนั้นมีสถานะคล้ายคลึงกับรัฐวิสาหกิจเนื่องจากในเวลานั้นรัฐบาลใช้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดำเนินกิจการทางพาณิชย์เพื่อชดเชยความไม่คล่องตัวของรัฐในลักษณะเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจ ความพยายามเพิ่มจำนวนธนาคารในฐานะสถาบันการเงินสำคัญของนายปรีดีมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนรวมไปถึงการยกระดับให้คลังออมสิน โดยเปลี่ยนสถานะเป็น “ธนาคารออมสิน” ตาม พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489
ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยเริ่มมีการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นมาเพื่อกำกับการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นจากการต่อยอดจากสำนักงานธนาคารชาติไทย ซึ่งนายปรีดีได้ริเริ่มไว้ (โปรดดู ปรีดี พนมยงค์ กับธนาคารชาติ และ ธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2)

ธนาคารและความสัมพันธ์ทางการเมือง

บทบาทของธนาคารไทยไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะในทางเศรษฐกิจเท่านั้น ทว่า ธนาคารยังถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างฐานอำนาจและการสนับสนุนทางการเมืองของกลุ่มอำนาจต่างๆ ในบางเวลา ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อถกเถียงพอสมควรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับธนาคาร เพราะในหลายด้านนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดผู้ปกครองต้องการอาศัยความรู้ความชำนาญของพ่อค้าชาวจีนเหล่านี้มาผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ในลักษณะดังกล่าวจึงเกิดความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มทุนพ่อค้าชาวจีนและข้าราชการไทย

ตารางที่ 1 : แสดงธนาคารพาณิชย์และกลุ่มผู้ร่วมทุนจัดตั้งธนาคารพาณิชย์

ธนาคารพาณิชย์กลุ่มเชื้อสายเจ้ากลุ่มขุนนางเดิม/ข้าราชการพ่อค้าชาวจีน
ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการราชนิกุลสกุลปราโมชสกุลอินทรทูต
(พระพินิจชนคดี)
ตระกูลหวั่งหลี ตระกูลมหาคุณ ตระกูลบูลสุข ตระกูลเคียงศิริ
ธนาคารกรุงเทพเจ้าพระยารามราฆพพระยานลราชสุวัจน์ตระกูลโสภณพาณิชย์
ธนาคารกสิกรไทยนายทองเปลว ชลภูมินายสงวน จูฑะเตมีย์ตระกูลล่ำซำ
ธนาคารศรีนครพระยาโทณวณิกมนตรีพระยาจินดารักษ์นายอื้อจือเหลียง
(เตชะไพบูลย์)

ที่มา:  ผู้เขียนปรับปรุงและเรียบเรียงใหม่จาก ธารทอง ทองสวัสดิ์, “เศรษฐกิจไทยในช่วง พ.ศ. 2488 – 2504”, ใน เศรษฐกิจไทย, (นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2533), น. 294.

ความตระหนักต่ออิทธิพลทางเศรษฐกิจของธนาคารได้ทำให้ผู้ปกครองบางกลุ่มพยายามอาศัยธนาคารเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ ดังนั้น ในงานศึกษาวิจัยของสังศิต พิริยะรังสรรค์ หรือพรรณี บัวเล็ก ดังเช่น กรณีของขุนนิรันดรชัยซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขานุการในพระองค์ได้นำเงินจากทุนในส่วนของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปร่วมตั้งธนาคารนครหลวงไทย และในอีกด้านหนึ่งขุนนิรันดรชัยได้เข้าควบคุมธนาคารไทยพาณิชย์โดยอาศัยช่องทางตัวแทนของกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ปกครองในขณะนั้นทุกคนจะเห็นแก่ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจส่วนตัว นายปรีดี พนมยงค์เป็นบุคคลหนึ่งที่แม้จะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งธนาคารหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้มีส่วนเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นหรืออาศัยอิทธิพลทางการเมืองของตนในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง 

ดังเช่นในครั้งที่มีการจัดตั้งธนาคารเอเชียขึ้นมา เนื่องจากเห็นประโยชน์ของกิจการธนาคารจะเจริญรุ่งเรืองในอนาคต ประกอบกับธนาคารโอเวอร์ซีไชนิสแบงก์กิ้ง คอร์เปอเรเชั่นได้เลิกกิจการลง เนื่องจากผู้จัดการธนาคารได้ส่งเงินไปช่วยเหลือจีนคณะชาติ (พรรคก๊กมิ่นตั๋ง) จึงเป็นเหตุให้ถูกเนรเทศออกจากประเทศไป ด้วยความตระหนักว่าประเทศไทยในขณะนั้นมีเพียง “แบงค์สยามกัมมาจล ทุน” (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพาณิชย์) เป็นธนาคารสัญชาติไทยเพียงธนาคารเดียว นายปรีดีจึงได้เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีต่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจะมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนเพื่อบำรุงมหาวิทยาลัย นอกเหนือจากเงินอุดหนุนจากทางการซึ่งไม่สามารถรองรับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมานี้ได้ และเป็นสถานที่ฝึกอบรมศึกษากิจการธนาคารอันเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา ซึ่งเงินที่นำมาใช้ในการซื้อหุ้นนี้ได้นำเงินสำรองของมหาวิทยาลัยมาใช้ในการซื้อหุ้น โดยนายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์นั้น ไม่ได้ถือหุ้นในธนาคารเอเชีย หรือแม้แต่กระทั่งเมื่อครั้งที่นายหลุย พนมยงค์ น้องชายของนายปรีดีได้จัดตั้งธนาคารกรุงศรีแห่งอยุธยาขึ้นนั้น จากคำบอกเล่าของคนสนิทใกล้ตัวอย่างนางฉลบชลัยย์ พลางกูร ซึ่งได้กล่าวถึงในตอนหนึ่งว่า

“…ในตอนหลังเมื่อคุณหลุย พนมยงค์ ตั้งธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา ก็มิได้บอกท่าน (นายปรีดี) ด้วยซ้ำ คุณหลุยถามดิฉัน (นางฉลบชลัยย์) ว่า “คุณพี่ว่าอะไรผมบ้างหรือเปล่าที่ตั้งธนาคารนี้” ดิฉัน (นางฉลบชลัยย์) บอกว่า “ไม่เคยว่าเลย มีแต่ชมว่า เก่ง สามารถ”…”

ซึ่งในบทความนี้นางฉลบชลัยย์ได้กล่าวถึงความไม่สนใจเรื่องเงินทองและความเป็นคนพอเพียงของนายปรีดีที่เน้นการดำรงชีพด้วยเงินเดือนตามตำแหน่งเท่านั้น

ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของผู้ปกครองบางกลุ่มจากกิจการธนาคารเห็นได้ชัดเมื่อในเวลาต่อมาหลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารนำโดยพันโทผิณ ชุณหะวัณ และลูกน้อง ได้พยายามเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจจากกิจการธนาคาร 

ภายหลังปฏิบัติการขบวนการประชาธิปไตย คณะรัฐประหารที่ครองอำนาจในขณะนั้นได้จับนายเดือน บุนนาค และนายหลุย พนมยงค์ ในความผิดทางการเมือง และได้บังคับให้นายเดือนในฐานะเลขาธิการมหาวิทยาลัยในฐานะผู้แทนของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขายหุ้นของธนาคารเอเชีย ให้กับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก  และได้บังคับให้นายหลุย พนมยงค์ ขายหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยาของตนให้กับสมาชิกคณะรัฐประหาร ซึ่งทำให้คณะรัฐประหารเข้ามามีอำนาจครอบงำธนาคารทั้งสองแห่ง

การบังคับขายหุ้นในธนาคารเอเชียนั้น ถือได้ว่าเป็นการทำลายฐานทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และทำให้มหาวิทยาลัยต้องหันไปพึ่งพิงแหล่งรายได้จากงบประมาณเพียงอย่างเดียวเสมือนหน่วยงานของรัฐอื่นๆ

ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างธนาคารกับการเมืองนั้นเริ่มชัดเจนมากขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 กิจการธนาคารนั้นสัมพันธ์กันอย่างยิ่งกับผู้นำและบุคคลสำคัญในคณะรัฐประหาร ซึ่งอาศัยความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างฝ่ายการเมืองที่อาศัยความรู้ความชำนาญและอิทธิพลทางการเมืองคุ้มกันมาเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากกิจการ (โปรดดู รัฐประหาร 2490 จุดกำเนิดขุนศึก พ่อค้า และพญาอินทรี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูลโสภณพนิช ซึ่งเป็นตระกูลที่ปรับตัวและดำเนินธุรกิจได้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมือง โดยเข้าไปร่วมมือกับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ทำให้ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของพลตำรวจเอกเผ่า กิจการของธนาคารได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง

ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างธนาคาร (กรุงเทพ) กับฝ่ายการเมืองดำเนินไปควบคู่กับความเปลี่ยนแปลงในสังคมมาโดยตลอด ดังที่รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นักวิชาการทางเศรษฐกิจคนสำคัญ ได้อธิบายถึงผลประโยชน์ทางเมืองระหว่างธนาคาร (กรุงเทพ) กับการเมืองเอาไว้อย่างชัดเจนในงานเขียนชื่อว่า “ธนาคารพาณิชย์: ปลิงดูดเลือดสังคมไทย ?” ไว้ว่า 

“…ธนาคารกรุงเทพไม่ได้เป็นธนาคารเดียวที่พยายามแสวงหาอิทธิพลทางการเมือง และสาเหตุที่ธนาคารกรุงเทพตกเป็นเป้าโจมตีมากกว่าธนาคารอื่น ไม่ใช่เพราะความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกรุงเทพกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้ฉาวโฉ่ (จอมพลประภาส จารุเสถียร) เท่านั้น หากรวมตลอดถึงการที่ธนาคารกรุงเทพมีนักการเมืองมาเป็นกรรมการอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่าในสมัยหนึ่งนั้น กรรมการของธนาคารกรุงเทพประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” 

ธนาคารเป็นเพียงแต่รูปแบบหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ถูกเข้าแทรกแซงโดยอำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์จากการเข้าไปเกี่ยวข้องในทางการเมืองประกอบกับกิจการธนาคารได้กลายเป็นฐานให้กลุ่มทุนธนาคารพาณิชย์ที่มีอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลังสามารถขยายกิจการออกไปในธุรกิจอื่นๆ ได้ ปรากฏตามตารางที่ 2

ตารางที่ 2 : ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของนายธนาคารพาณิชย์

ตระกูลนายธนาคารพาณิชย์ผลประโยชน์ในธนาคารพาณิชย์ผลประโยชน์นอกธนาคารพาณิชย์
ตระกูลเตชะไพบูลย์ธนาคาร ศรีนคร จำกัดธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำกัดธนาคารไทยพัฒนา จำกัดบริษัท ไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัดบริษัท กระจกไทยอาซาฮี จำกัดบริษัท สุรามหาคุณ จำกัดบริษัท ไทยอาซาฮีโซดาไฟ จำกัดบริษัท คาเธ่ย์ทรัสท์ จำกัดบริษัท ธนพัฒนาทรัสท์ จำกัดบริษัท กมลสุโกศล อินเวสต์เม้นท์ แอนด์ทรัสท์ จำกัดบริษัท ไทยโอเวอร์ซีส์ทรัสต์ จำกัดบริษัท ศรีนครพัฒนา จำกัดบริษัท ไทยโปรดัคท์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัดบริษัท พาราวินเซอร์ จำกัดบริษัท ไทยมิตซูบิชิ อินเวสต์เม้นท์ จำกัดบริษัท สหธนกิจไทย จำกัดบริษัท อินเตอร์เนชันแนลไฟแนนซ์ แอนด์คอนเซาล์แทนส์ จำกัดโรงแรมรีเจ้นท์พัทยาโรงรับจำนำ 11 แห่งฯลฯ
ตระกูลล่ำซำธนาคารกสิกรไทย จำกัดบริษัท เลเปอร์ตี้ต์ (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท อุตสาหกรรมกระดาษไทย จำกัดบริษัท สมบัติล่ำซำ จำกัดบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัดบริษัท สุรามหาคุณ จำกัดบริษัท ยิบอินซอย จำกัดบริษัท ล็อกซ์เลย์ (กรุงเทพฯ) จำกัดบริษัท ภัทรเคหะ จำกัดบริษัท ล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า จำกัดบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำประกันภัย จำกัดหยาดฟ้าภัตตาคารบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัดบริษัท ล่ำซำอิมปอร์ต จำกัดบริษัท ภัทรธนกิจ จำกัดบริษัท ยางไฟร์สโตนส์ (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท ทิสโก (ค้าหลักทรัพย์และลงทุน) จำกัดบริษัท ล่ำซำบราเดอร์ส จำกัดฯลฯ
ตระกูลหวั่งหลีธนาคารหวั่งหลีบริษัท พูนผล จำกัดบริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัดบริษัท วิสุทธิพาณิชย์ จำกัดบริษัท หวั่งหลี จำกัดบริษัท ไทยพาณิชย์ ประกันภัย จำกัด
ตระกูลโสภณพณิชธนาคารกรุงเทพ จำกัดบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัดบริษัท กรุงเทพคลังสินค้า จำกัดบริษัท กรุงเทพธนาทร จำกัดบริษัท เคหพัฒนา จำกัดบริษัท บางกอกโนมูระ อินเตอร์เนทชั่นแนล ซีเคียวริตี้ จำกัดบริษัท อั้นฟองเหลาไมฮง จำกัดบริษัท สินเอเชียทรัพสต์ จำกัด บริษัท กรีนสปอต (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท บางกอกรัษฎาและทรัสท์ จำกัดโรงงานทอผ้าประมาณ 10 โรงโรงงานน้ำตาลประมาณ 10 โรงฯลฯ

ที่มา: นิทรรศการเรื่อง “การผูกขาดในอุตสาหกรรมไทย” จัดโดยกลุ่มเศรษฐธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2517)

แม้ว่าบริษัทตามตารางที่ 2 นี้ ในปัจจุบันจะได้หายไปด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจและการควบรวม หรือเปลี่ยนมือกันก็ตาม แต่การอาศัยทุนธนาคารเป็นฐานในการต่อยอดทางธุรกิจโดยอาศัยความช่วยเหลือทางการเมืองทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน การที่กรรมการธนาคารพาณิชย์ล้วนมีผลประโยชน์ในกิจการอื่นๆ เป็นอันมากนั้น เป็นเหตุให้ธนาคารเหล่านี้ใช้อำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์แห่งตน ทั้งในการเก็งกำไรและการกักตุนสินค้า และใช้อำนาจผ่านธนาคารในการผูกขาดเพื่อไม่ให้เกิดกิจการใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งในกิจการที่ตนมีผลประโยชน์อยู่ได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วการผูกขาดย่อมหมายถึงการได้รับผลตอบแทนสูงกว่าอัตราอันสมควร  ทว่า การผูกขาดและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนธนาคารนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากปราศจากความช่วยเหลือจากผู้ปกครองที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ

สภาวการณ์ที่กลุ่มทุนเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้ใช้อำนาจรัฐนั้น ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่มีความอันตรายต่อเศรษฐกิจโดยรวม กล่าวคือ ผู้มีอำนาจรัฐมีแนวโน้มจะบิดเบือนกลไกตลาดต่างๆ โดยอาศัยอำนาจรัฐเพื่อประกันผลประโยชน์ของทุนที่ให้ผลประโยชน์แก่ตัวเอง

อำนาจการรับเข้ามาของนโยบายทางเศรษฐกิจไทยในปี 2540
แนวคิดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินในรัฐธรรมนูญฯ ของปรีดี พนมยงค์