เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 บนเว็บไซต์ pridi.or.th
ขบวนการสิทธิแรงงานที่หยุดการเติบโตโดยอำนาจเผด็จการ โดยเล่าย้อนกลับไปในเหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ได้เกิดปัญหาการนัดหยุดงานของกรรมกร และชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง โดยผู้ใช้แรงงานต่างเรียกร้องขอเพิ่มสวัสดิการต่างๆ หลักประกันการทำงาน และอัตราค่าจ้างงานขั้นต่ำรายวัน การเรียกร้องครั้งนั้นเป็นผลสำเร็จ เกิดการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงานขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ฝ่ายที่สูญเสียประโยชน์ได้มีการโต้กลับ ที่เรียกปรากฏการณ์นั้นว่า “ขวาพิฆาตซ้าย” ภายในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้นำกรรมกรและชาวนาถูกลอบสังหารเป็นจำนวนมาก เกิดการปะทะจนทำให้กรรมกรหญิงอายุเพียง 15 ปีเสียชีวิต เหตุการณ์ดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดการหยุดยั้ง และเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสิทธิแรงงานที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ในบทความนี้จะย้อนไปดูเหตุการณ์ที่เป็นชนวนสำคัญและลักษณะของการหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน
6 ตุลา ชนวนสำคัญของการหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน
ย้อนกลับไปช่วงสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 นอกเหนือไปจากขบวนการนิสิต-นักศึกษาแล้ว กลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ “กลุ่มผู้ใช้แรงงาน” ในนามของ สภาแรงงานแห่งประเทศไทย โดยได้ร่วมกับ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ที่คัดค้านสถานะภิกษุของ ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ และได้ขอให้รัฐบาลเนรเทศภิกษุถนอม กิตติขจรออกจากประเทศไทย[1] เมื่อในเวลาต่อมาสถานการณ์ทางการเมืองนำไปสู่การสังหารหมู่กลางกรุงเทพฯ
ความขัดแย้งทางการเมืองนั้น นำมาสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้นำไปสู่การฟื้นชีพใหม่ของกลุ่มเผด็จการขวาจัด โดยมี ‘นายธานินทร์ กรัยวิเชียร’ (องคมนตรี) ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การโอบอุ้มของคณะทหารในนามคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน[2] โดยภายหลังประชาชนบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำกรรมกรต่างถูกกวาดล้าง ซึ่งเป็นการบีบบังคับให้จำเป็นต้องหนีเข้าป่าเพื่อหลบซ่อนและเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
นับตั้งแต่เหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาคม 2516 จนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้นมีความสำคัญและมีอิทธิพลทางการเมืองสูง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรวมกลุ่ม 3 ประสาน ระหว่างนักศึกษาปัญญาชน ขบวนการกรรมกร และขบวนการชาวนา
ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2515 – 2517 นั้น ได้มีการนัดหยุดงานหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในช่วงกลางปี 2517 เมื่อคนงานกว่า 6 พันคนของโรงงานทอผ้าที่กรุงเทพฯ นัดหยุดงานประท้วงที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานเพราะขายของไม่ได้ ซึ่งนักศึกษาได้เข้าช่วยกลุ่มผู้ใช้แรงงานเหล่านี้โดยการตั้งองค์กรประสานขบวนการแรงงาน และผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ซึ่งรัฐบาลในเวลานั้นได้ตอบสนองโดยการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และเข้ามาไกล่เกลี่ยการนัดหยุดงาน และออกกฎหมายแรงงานใหม่ที่ยอมให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน ให้มีกลไกเพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท[3] การร่วมมือกันของขบวนการ 3 ประสานนี้เอง ทำให้รัฐบาลเผด็จการฝ่ายขวาเองตระหนักถึงความแข็งเกร่งของกลุ่มทางสังคมเหล่านี้ ซึ่งทำให้ในเวลาต่อมารัฐบาลพยายามลดทอนอำนาจของกลุ่มทางสังคมต่างๆ
กระบวนการของเผด็จการในหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน
ภายหลังจากการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น กลุ่มเผด็จการขวาจัดและคณะทหารได้ร่วมมือกันสกัดกั้นบทบาททางการเมืองของขบวนการแรงงาน โดยการลดทอนความแข็งแกร่งและทำลายคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อไม่ให้สามารถออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ โดยอาศัยวิธีการต่างๆ ดังนี้
ประการแรก:การรัฐประหารได้ทำลายขบวนการเคลื่อนไหว 3 ประสาน โดยในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้นเพื่อต่อต้านการบริหารประเทศโดยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวร่วมกัน 3 ฝ่าย โดยเป็นความสัมพันธ์ของ ขบวนการนักศึกษาปัญญาชน ขบวนการกรรมกรและขบวนการชาวนา ซึ่งร่วมกันต่อสู้และขับเคลื่อนการใช้สิทธิเรียกร้องต่างๆ ร่วมกัน[4] อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้นขบวนการเคลื่อนไหว 3 ประสานนั้นได้เสื่อมลงจากความพยายามใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับให้ขบวนการดังกล่าวเสื่อมลง ทำให้ขบวนการแรงงานนั้นต้องพึ่งพาตนเองอย่างโดดเดี่ยวทางสังคมในระดับสูง
ประการที่สอง ค่าจ้างขั้นต่ำต้องถูกแช่แข็งนานมาก โดยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราแรกนั้นจำนวน 12 บาทต่อวัน ที่บังคับใช้กับลูกจ้างกรรมกรตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2516 แต่ภายหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระแสการเคลื่อนไหวของขบวนการ 3 ประสานนั้นได้ส่งผลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้นสูงมากโดยปรับจาก 12 บาท มาเป็น 16 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2517 และในวันที่ 14 มิถุนายน 2517 ก็ปรับเป็น 25 บาท[5] ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วมาก
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการขวาจัดที่มีทหารหนุนหลังได้คุกคามและทำลายอำนาจต่อรองของขบวนการแรงงานในการเรียกร้องให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และแม้ในภายหลังจะสามารถเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ในเวลา 2 ปีต่อมา แต่ก็เพิ่มด้วยอัตราที่ต่ำมาก โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2520 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 28 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาท[6] จากในปี 2517
ประการที่สาม การยกเลิกองค์กรจัดตั้งและสหภาพแรงงาน ภายหลังจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลเผด็จการได้ออกคำสั่งปฏิวัติยกเลิกกฎหมายแรงงานและสหภาพแรงงานเหมือนกับการรัฐประหารยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2501[7] โดยสหภาพแรงงานจึงมีสถานะกลายเป็นองค์กรเถื่อนที่ไม่มีกฎหมายรับรอง ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะรัฐบาลใช้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุม เช่น เมื่อมีการจัดประชุมจะต้องมีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ รวมถึงรัฐบาลได้ยกเลิกศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ และสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้สหภาพแรงงานไทยอ่อนแอลง
นอกจากนี้ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้มีคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ห้ามมิให้ร่วมกันหยุดงานหรือปิดงานงดจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีสถานะเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมและจะถูกควบคุมตัว[8]
ประการที่สี่ ออกกฎกระทรวงจำกัดสิทธินัดหยุดงานของลูกจ้างในกิจการบางประเภท[9] โดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 ได้กำหนดห้ามกิจการ คือ การรถไฟ การท่าเรือ การโทรศัพท์ หรือ การโทรคมนาคม การผลิตหรือจำหน่ายพลังงาน หรือ กระแสไฟฟ้าแก่ประชาชน การประปา การผลิต หรือการกลั่นน้ำมันเชื้องเพลิง กิจการโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาล และกิจกรรมอื่นที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดเป็นกฎกระทรวง ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้อาศัยอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในบางกิจการไม่มีสิทธินัดหยุดงาน ได้แก่ กิจการทุกประเภทของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กิจการของวิทยาลัยเอกชนและของโรงเรียนราษฎร์ กิจการสหกรณ์ กิจการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
ประการที่ห้า การควบคุมการจัดตั้งสภาแรงงาน โดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดให้การจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างต้องมีสหภาพแรงงาน หรือสหพันธ์แรงงานไม่น้อยกว่า 15 แห่ง และต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งทำให้เกิดความยากในการจัดตั้งสภาแรงงาน[10]
ประการที่หก แยกรัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานทั่วไป โดยการตรากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่เฉพาะสำหรับรัฐวิสาหกิจเท่านั้น[11]
สภาพดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยับยั้งการเติบโตของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิแรงงานที่ถูกกระทบอย่างชัดเจนจากการขยายอำนาจทางการเมืองของระบอบเผด็จการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือผลกระทบต่อขบวนการแรงงานไทยภายหลังจากการรัฐประหารและความรุนแรงภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
[1] สมยศ เชื้อไทย, คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 : ใครคือฆาตกร (พี. เค. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2531) น. 14-15.
[2] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, ‘อาชญากรรมคดี 6 ตุลา กับผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน’ (2545) 33 วารสารสังคมศาสตร์, 81.
[3] คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย (สำนักพิมพ์มติชน 2557) น. 284
[4] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 82
[5] เพิ่งอ้าง, 82
[6] เพิ่งอ้าง, 83
[7] เพิ่งอ้าง, 84
[8] คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ข้อ 1 และข้อ 2
[9] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 87
[10] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 88 – 89
[11] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 89
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง
เผด็จการที่หยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 บนเว็บไซต์ pridi.or.th
ขบวนการสิทธิแรงงานที่หยุดการเติบโตโดยอำนาจเผด็จการ โดยเล่าย้อนกลับไปในเหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ได้เกิดปัญหาการนัดหยุดงานของกรรมกร และชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง โดยผู้ใช้แรงงานต่างเรียกร้องขอเพิ่มสวัสดิการต่างๆ หลักประกันการทำงาน และอัตราค่าจ้างงานขั้นต่ำรายวัน การเรียกร้องครั้งนั้นเป็นผลสำเร็จ เกิดการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงานขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ฝ่ายที่สูญเสียประโยชน์ได้มีการโต้กลับ ที่เรียกปรากฏการณ์นั้นว่า “ขวาพิฆาตซ้าย” ภายในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้นำกรรมกรและชาวนาถูกลอบสังหารเป็นจำนวนมาก เกิดการปะทะจนทำให้กรรมกรหญิงอายุเพียง 15 ปีเสียชีวิต เหตุการณ์ดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดการหยุดยั้ง และเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสิทธิแรงงานที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ในบทความนี้จะย้อนไปดูเหตุการณ์ที่เป็นชนวนสำคัญและลักษณะของการหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน
6 ตุลา ชนวนสำคัญของการหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน
ย้อนกลับไปช่วงสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 นอกเหนือไปจากขบวนการนิสิต-นักศึกษาแล้ว กลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ “กลุ่มผู้ใช้แรงงาน” ในนามของ สภาแรงงานแห่งประเทศไทย โดยได้ร่วมกับ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ที่คัดค้านสถานะภิกษุของ ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ และได้ขอให้รัฐบาลเนรเทศภิกษุถนอม กิตติขจรออกจากประเทศไทย[1] เมื่อในเวลาต่อมาสถานการณ์ทางการเมืองนำไปสู่การสังหารหมู่กลางกรุงเทพฯ
ความขัดแย้งทางการเมืองนั้น นำมาสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้นำไปสู่การฟื้นชีพใหม่ของกลุ่มเผด็จการขวาจัด โดยมี ‘นายธานินทร์ กรัยวิเชียร’ (องคมนตรี) ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การโอบอุ้มของคณะทหารในนามคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน[2] โดยภายหลังประชาชนบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำกรรมกรต่างถูกกวาดล้าง ซึ่งเป็นการบีบบังคับให้จำเป็นต้องหนีเข้าป่าเพื่อหลบซ่อนและเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
นับตั้งแต่เหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาคม 2516 จนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้นมีความสำคัญและมีอิทธิพลทางการเมืองสูง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรวมกลุ่ม 3 ประสาน ระหว่างนักศึกษาปัญญาชน ขบวนการกรรมกร และขบวนการชาวนา
ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2515 – 2517 นั้น ได้มีการนัดหยุดงานหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในช่วงกลางปี 2517 เมื่อคนงานกว่า 6 พันคนของโรงงานทอผ้าที่กรุงเทพฯ นัดหยุดงานประท้วงที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานเพราะขายของไม่ได้ ซึ่งนักศึกษาได้เข้าช่วยกลุ่มผู้ใช้แรงงานเหล่านี้โดยการตั้งองค์กรประสานขบวนการแรงงาน และผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ซึ่งรัฐบาลในเวลานั้นได้ตอบสนองโดยการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และเข้ามาไกล่เกลี่ยการนัดหยุดงาน และออกกฎหมายแรงงานใหม่ที่ยอมให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน ให้มีกลไกเพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท[3] การร่วมมือกันของขบวนการ 3 ประสานนี้เอง ทำให้รัฐบาลเผด็จการฝ่ายขวาเองตระหนักถึงความแข็งเกร่งของกลุ่มทางสังคมเหล่านี้ ซึ่งทำให้ในเวลาต่อมารัฐบาลพยายามลดทอนอำนาจของกลุ่มทางสังคมต่างๆ
กระบวนการของเผด็จการในหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน
ภายหลังจากการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น กลุ่มเผด็จการขวาจัดและคณะทหารได้ร่วมมือกันสกัดกั้นบทบาททางการเมืองของขบวนการแรงงาน โดยการลดทอนความแข็งแกร่งและทำลายคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อไม่ให้สามารถออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ โดยอาศัยวิธีการต่างๆ ดังนี้
ประการแรก:การรัฐประหารได้ทำลายขบวนการเคลื่อนไหว 3 ประสาน โดยในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้นเพื่อต่อต้านการบริหารประเทศโดยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวร่วมกัน 3 ฝ่าย โดยเป็นความสัมพันธ์ของ ขบวนการนักศึกษาปัญญาชน ขบวนการกรรมกรและขบวนการชาวนา ซึ่งร่วมกันต่อสู้และขับเคลื่อนการใช้สิทธิเรียกร้องต่างๆ ร่วมกัน[4] อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้นขบวนการเคลื่อนไหว 3 ประสานนั้นได้เสื่อมลงจากความพยายามใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับให้ขบวนการดังกล่าวเสื่อมลง ทำให้ขบวนการแรงงานนั้นต้องพึ่งพาตนเองอย่างโดดเดี่ยวทางสังคมในระดับสูง
ประการที่สอง ค่าจ้างขั้นต่ำต้องถูกแช่แข็งนานมาก โดยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราแรกนั้นจำนวน 12 บาทต่อวัน ที่บังคับใช้กับลูกจ้างกรรมกรตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2516 แต่ภายหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระแสการเคลื่อนไหวของขบวนการ 3 ประสานนั้นได้ส่งผลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้นสูงมากโดยปรับจาก 12 บาท มาเป็น 16 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2517 และในวันที่ 14 มิถุนายน 2517 ก็ปรับเป็น 25 บาท[5] ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วมาก
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการขวาจัดที่มีทหารหนุนหลังได้คุกคามและทำลายอำนาจต่อรองของขบวนการแรงงานในการเรียกร้องให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และแม้ในภายหลังจะสามารถเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ในเวลา 2 ปีต่อมา แต่ก็เพิ่มด้วยอัตราที่ต่ำมาก โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2520 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 28 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาท[6] จากในปี 2517
ประการที่สาม การยกเลิกองค์กรจัดตั้งและสหภาพแรงงาน ภายหลังจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลเผด็จการได้ออกคำสั่งปฏิวัติยกเลิกกฎหมายแรงงานและสหภาพแรงงานเหมือนกับการรัฐประหารยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2501[7] โดยสหภาพแรงงานจึงมีสถานะกลายเป็นองค์กรเถื่อนที่ไม่มีกฎหมายรับรอง ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะรัฐบาลใช้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุม เช่น เมื่อมีการจัดประชุมจะต้องมีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ รวมถึงรัฐบาลได้ยกเลิกศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ และสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้สหภาพแรงงานไทยอ่อนแอลง
นอกจากนี้ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้มีคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ห้ามมิให้ร่วมกันหยุดงานหรือปิดงานงดจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีสถานะเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมและจะถูกควบคุมตัว[8]
ประการที่สี่ ออกกฎกระทรวงจำกัดสิทธินัดหยุดงานของลูกจ้างในกิจการบางประเภท[9] โดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 ได้กำหนดห้ามกิจการ คือ การรถไฟ การท่าเรือ การโทรศัพท์ หรือ การโทรคมนาคม การผลิตหรือจำหน่ายพลังงาน หรือ กระแสไฟฟ้าแก่ประชาชน การประปา การผลิต หรือการกลั่นน้ำมันเชื้องเพลิง กิจการโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาล และกิจกรรมอื่นที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดเป็นกฎกระทรวง ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้อาศัยอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในบางกิจการไม่มีสิทธินัดหยุดงาน ได้แก่ กิจการทุกประเภทของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กิจการของวิทยาลัยเอกชนและของโรงเรียนราษฎร์ กิจการสหกรณ์ กิจการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
ประการที่ห้า การควบคุมการจัดตั้งสภาแรงงาน โดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดให้การจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างต้องมีสหภาพแรงงาน หรือสหพันธ์แรงงานไม่น้อยกว่า 15 แห่ง และต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งทำให้เกิดความยากในการจัดตั้งสภาแรงงาน[10]
ประการที่หก แยกรัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานทั่วไป โดยการตรากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่เฉพาะสำหรับรัฐวิสาหกิจเท่านั้น[11]
สภาพดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยับยั้งการเติบโตของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิแรงงานที่ถูกกระทบอย่างชัดเจนจากการขยายอำนาจทางการเมืองของระบอบเผด็จการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือผลกระทบต่อขบวนการแรงงานไทยภายหลังจากการรัฐประหารและความรุนแรงภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
[1] สมยศ เชื้อไทย, คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 : ใครคือฆาตกร (พี. เค. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2531) น. 14-15.
[2] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, ‘อาชญากรรมคดี 6 ตุลา กับผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน’ (2545) 33 วารสารสังคมศาสตร์, 81.
[3] คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย (สำนักพิมพ์มติชน 2557) น. 284
[4] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 82
[5] เพิ่งอ้าง, 82
[6] เพิ่งอ้าง, 83
[7] เพิ่งอ้าง, 84
[8] คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ข้อ 1 และข้อ 2
[9] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 87
[10] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 88 – 89
[11] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 89
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง