ถอดบทเรียน: Russell Crowe กับ อุตสาหกรรม Soft Power และพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 บนเว็บไซต์ pridi.or.th

ในช่วงเกือบเดือนที่ผ่านมาหนึ่งในเรื่องที่เป็นกระแสมากเท่ากับการที่นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง รัสเซล โครว์ เดินทางไปทั่วกรุงเทพฯ เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่อง “The Greatest Beer Run Ever” (หนังเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริงที่น่าสนใจ) และได้มีโอกาสถ่ายภาพบรรยากาศและการใช้ชีวิตของผู้คนในประเทศไทยผสมกันไประหว่างย่านการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ร้านอาหาร และภาพสะท้อนของเมืองที่กำลังพัฒนา ในมุมมองหนึ่งอาจจะดูภาพที่ชวนให้ตื่นเต้นว่าวันนี้จะมีรูปมุมไหนของกรุงเทพฯ ไปปรากฏบนทวิตเตอร์ของนักแสดงคนดังบ้าง แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นมุมมองของชาวต่างชาติที่มีต่อกรุงเทพฯ และอีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ “ผลกระทบ” หรือ “กระแสตอบรับ” ที่เกิดขึ้นมาจากการเดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ของนักแสดงดังก็คือ การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศ (ถึงขนาดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องไปพบเจอนักแสดงดัง) สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ประเทศไทยสามารถจะหารายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของรายได้หลักของ

ประเทศไทยกับพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทยประเทศได้หรือไม่

ในสถานการณ์ปกติประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักท่องเที่ยวหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวมาสู่ประเทศไทยนั้นก็เป็นผลมาจากการแนะนำในโดย Youtuber หลายคนที่ทำรายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวประเทศไทย หรือ หนังสือแนะนำการท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง Lonely Planet 

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามีผลต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นเป็นอิทธิพลมาจากอุตสาหกรรม Soft Power อย่างเช่น ภาพยนตร์แบบ Lost in Thailand หรือ The Hangover 2 หรือบรรดาซีรีส์หรือละครต่างๆ ที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน (ก่อนหน้านี้มีดาราฮอลีวูดและนักร้องจำนวนมากที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้โลเคชันในการถ่ายทำผลงาน)

อุตสาหกรรม Soft Power เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยที่ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องลงทุนไปกับการออกบูทประชาสัมพันธ์ตามงานท่องเที่ยวต่างๆ แบบแต่ก่อน อีกทั้งการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยยังสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วยทั้งจากการเข้ามาใช้จ่ายของกองถ่ายทำภาพยนตร์ การจ้างแรงงานเพื่อประกอบการถ่ายทำภาพยนตร์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มาจากการเดินทางเข้ามาพักในประเทศไทย เช่น ค่าโรงแรม ร้านอาหาร และท่องเที่ยว เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากสถิติของ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

รายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย จำแนกตามประเทศผู้ผลิตภาพยนตร์ (หน่วยนับ : ล้านบาท)

ประเทศ2548254925502551255225532554255525562557
 ญี่ปุ่น  16514215413410812311314914057
 อินเดีย  44729212310812810712515054
 เกาหลี  26423926274147332915
 จีน  52188162233242923
 อเมริกา  22212225252235273416
 ฮ่องกง  24212523202424373814
 ออสเตรเลีย  2027181088156228
 ไต้หวัน  616310169171
 ยุโรป  10577102106969111910511269
 อื่นๆ  756757687810310412915687
รวม/เรื่อง492491523526496578606636717344
รายได้/ล้านบาท1,138.361,926.831,072.622,023.24897.831,869.151,226.451,781.932,173.35942.2

ที่มา: กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.

กล่าวเฉพาะในช่วงของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กรมการท่องเที่ยวได้เปิดเผยรายงานของกองกิจการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ต่างประเทศ เกี่ยวกับสถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งดำเนินการผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน นั้น มีกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมากกว่า 31 เรื่อง สร้างรายได้รวม 1,212.28 ล้านบาท และเฉพาะการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “Beer Run”และ “Beer Run 2” ของรัสเซล โครว์ และกองถ่ายทำในช่วงเดือน กันยายน – ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ราชบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี และประจวบคีรีขันธ์นั้นจะสร้างรายได้จากการประมาณค่าใช้จ่ายได้ราวๆ 373 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาลงไปในประเภทของภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยนั้น 3 อันดับแรกของภาพยนตร์ (ในช่วงปี 2548 – 2558) ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศนั้น จากการเก็บข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าอันดับหนึ่งจะเป็นภาพยนตร์โฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวน 2,738 เรื่อง ภาพยนตร์สารคดี 1,989 เรื่อง และมิวสิควีดีโอ 507 เรื่อง สำหรับภาพยนตร์เรื่องยาวจำนวน 429 เรื่อง

ปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยได้เปรียบ คือ การมีโลเคชันหลากหลายทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ ประเพณี และการพัฒนาเมือง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพแล้วสิ่งนี้กลายมาเป็นจุดเด่นของประเทศไทย และยังไม่รวมถึงธุรกิจภาคบริการที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ  

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีจะได้ประโยชน์อย่างมากหากมีการเข้าถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยทั้งในแง่ของการเข้ามาใช่จ่ายของกองถ่าย ซึ่งประโยชน์จะไปถึงประชาชนโดยตรงจากการซื้อสินค้าและบริการ การจ้างงานในประเทศ การใช้จ่ายบริการสนับสนุนการถ่ายทำ และการกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์ นอกจากประโยชน์ดังกล่าวแล้วภาพยนตร์ยังมีส่วนในการส่งเสริม Soft Power ของประเทศ และเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งต้องกลับมาทบทวนก็คือ นโยบายของรัฐบาลนั้นสนับสนุนให้เกิดการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเพียงพอแล้วหรือไม่

นโยบายของรัฐบาลกับการถ่ายทำภาพยนตร์

หากรัฐบาลพิจารณาแล้วว่า อุตสาหกรรม Soft Power จะกลายมาเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ช่วยเสริมแรงการท่องเที่ยวที่น่าจะยังไม่ฟื้นฟูขึ้นมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลได้ตั้งปณิธานว่าจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจตามนโยบายที่นายกรัฐบาล อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นโยบายของรัฐบาลอาจจะยังไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยขนาดนั้น โดยเฉพาะอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากใบอนุญาต

ในปัจจุบันการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศภายในประเทศไทยนั้นกองถ่ายภาพยนตร์จะต้องขอใบอนุญาตหลายใบถึงจะสามารถเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ภายในประเทศได้ ซึ่งบรรดาใบอนุญาตทั้งหลายนี้ก็ไม่ได้รวมกันอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน ซึ่งก็เป็นปัญหาในกรณีที่จะต้องมีการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศที่จะต้องมีการติดต่อเพื่อขอใบอนุญาตหลายจุด การมีจำนวนใบอนุญาตเป็นจำนวนมากนี้ไม่ได้มีผลเพียงแค่ต้องติดต่อหลายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว บรรดาใบอนุญาตดังกล่าวยังกลายเป็นต้นทุนและเป็นเงื่อนไขที่ต้องรอก่อนจึงจะสามารถเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าวได้

ใบอนุญาตการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย*

ใบอนุญาตหน่วยงานต้นทุน
ใบอนุญาตการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร**กรมการท่องเที่ยวค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 168,364 บาทค่าใช้จ่ายรวมต่อปี 9,767,307 บาท
การขออนุญาตเข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ในอุทยานแห่งชาติกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 11,519 บาทค่าใช้จ่ายรวมต่อปี 5,195,160 บาท
การขออนุญาตให้เข้าถ่ายทำภาพยนตร์ในเขตโบราณสถานกรมศิลปากรค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 28,548 บาทต่อปี 540,978 บาท
การขออนุญาตเข้าถ่ายทำภาพยนตร์ในเขตวัดและศาสนสถานสำนังานพระพุทธศาสนาแห่งชาติค่าใช้จ่ายต่อครั้ง 6,291 บาทต่อปี 155,062 บาท

หมายเหตุ *การขอใบอนุญาตดังกล่าวไม่นับรวมการขออนุญาตในพื้นที่ เช่น บนท้องถนนที่ต้องขออนุญาตต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

** กรณีนี้เฉพาะการขอใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ประเภทภาพยนตร์ยาว ซึ่งค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันตามประเภทของภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำ

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรืออุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน เล่ม 1’ (เสนต่อสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง) 333 – 370 และ 385 – 400.

ผลของการมีใบอนุญาตหลายใบนั้นกลายมาเป็นอุปสรรคที่ทำให้กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายภาพยนตร์ในประเทศไทยนั้นเกิดความไม่สะดวกทั้งในแง่ของการติดต่อ การประสานงาน และการดำเนินการ ซึ่งหากรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกนั้นควรที่จะทำให้ใบอนุญาตนั้นควรจะมีเพียงแค่ใบเดียว หรือถ้าในระยะเบื้องต้นไม่สามารถรวมใบอนุญาตไว้เพียงแค่ใบเดียวได้นั้นก็ควรที่จะลดการติดต่อของต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตโดยอาจจะทำเป็น One Stop Service ที่สามารถขอใบอนุญาตในที่เดียวจบ

นอกจากความวุ่นวายในการขอใบอนุญาตแล้ว สิ่งที่พ่วงมากับการขอใบอนุญาตก็คือ กระบวนการหลายกรณีนั้น การขอใบอนุญาตเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเกิดขึ้นมาจากนโยบายการเซนเซอร์ของรัฐบาลในการตรวจสอบบทภาพยนตร์ ทำให้เกิดปัญหาว่าในหลายๆ กรณีกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเลือกที่จะเปลี่ยนประเทศเพื่อไปถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศอื่นที่มีบรรยากาศและโลเคชันใกล้เคียงกับประเทศไทยเพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกปรับเปลี่ยนบทภาพยนตร์ ประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ประเทศไทยอาจจะต้องทบทวนกันเสียใหม่ เพราะควรมองให้เห็นประโยชน์ของการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์มากกว่าจะให้ความสำคัญกับการถ่ายทำซึ่งไม่อาจแน่ใจได้ด้วยซ้ำว่าเนื้อหาที่นำเสนอนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะสิ่งที่มาถ่ายทำก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งฟุตเทจ

ปัญหาอีกประการที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยนั้นยังมีปัญหาเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย (ดารา นักแสดง และสมาชิกกองถ่ายที่เป็นคนต่างด้าวทั้งหมดต้องขอใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย) ซึ่งกองถ่ายต่างประเทศจำเป็นต้องขอใบอนุญาต ในประเด็นนี้หากรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกจริงๆ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนอาจจะจำเป็นต้องคิดนอกกรอบโดยการออกประเภทวีซ่าใหม่สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์โดยเฉพาะให้กับกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และยกเว้นใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวเนื่องจากใบอนุญาตดังกล่าวอาจจะไม่ได้เหมาะสมกับการทำงานของกองถ่ายภาพยนตร์

กล่าวโดยสรุปเมื่อประเทศไทยอยากคว้าโอกาสจากอุตสาหกรรม Soft Power โดยเฉพาะการเชื้อเชิญต่างประเทศเพื่อเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยลำพังเพียงแต่การออกนโยบายมาโดยไม่มีการทำอะไรเป็นแผนนิ่งๆ นั้นอาจจะไม่มีประโยชน์ วิธีการสนับสนุนที่ดีที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ การแก้ไขกฎระเบียบที่จะกลายเป็นอุปสรรคของเขาในการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยก็สามารถช่วยเหลือกองถ่ายภาพยนตร์และดึงดูกการเข้ามาถ่ายทำได้แล้ว

อ้างอิงจาก

  • กรุงเทพธุรกิจ, ‘กองถ่ายหนังต่างประเทศไม่หวั่นโควิด! เปิดสถิติ 4 เดือนแรกไทยกวาดรายได้ 1.2 พันล้าน’ (กรุงเทพธุรกิจ, 31 พฤษภาคม 2564) <https://www.bangkokbiznews.com/news/940807&gt; สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564.
  • เนชั่น, ‘รัสเซล โครว์-กองถ่ายหนังฟอร์มยักษ์ Beer Run คาดนำรายได้เข้าไทย 373 ล้านบาท’ (Nation Online, 21 ตุลาคม 2564) <https://www.nationtv.tv/news/378847745&gt; สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564.
  • สถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และสถิติรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เข้าถึงได้จาก สำนักสถิติแห่งชาติ, ‘การเผยแพร่ข้อมูลสถิติทางการ (รายสาขา)’ (สำนังานสถิติแห่งชาติ) <https://osstat.nso.go.th/statv5/list.php?id_branch=17&gt; สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564.
  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็นหรืออุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน เล่ม 1’ (เสนอต่อสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง)
Hometown Cha-Cha-Cha: ค่าจ้างขั้นต่ำกับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น
กาลครั้งหนึ่งเมื่อประเทศไทยริเริ่มมีองค์กรวางนโยบายทางเศรษฐกิจ