PRIDI Economic Focus: 2565 ปรับค่าแรงใหม่เพียงพอหรือไม่ สำรวจบทวิเคราะห์ค่าแรง

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 บนเว็บไซต์ pridi.or.th

“ค่าจ้างขั้นต่ำ” นับเป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งนำมาสู่ประเด็นต่างๆ เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำมีความเหมาะสมหรือไม่ หรือ ต้นทุนของผู้ประกอบการจะเป็นเช่นไร เป็นต้น

ในบทความนี้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ภายใต้คอลัมน์ PRIDI Economic Focus จะขอพาท่านไปติดตามเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่มีผลใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และสำรวจบทวิเคราะห์ที่ว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำ

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท เป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยขึ้น 5.02 %[1] การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้เป็นผลมาจากข้อเสนอของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งได้มีการเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 9 อัตรา ซึ่งที่ประชุมพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบนพื้นฐานของความเสมอภาค เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และมีเป้าหมายเพิ่มเติม คือ การเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น[2] ซึ่งการจัดแบ่งค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 9 อัตรา มีลักษณะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ดังนี้

ตารางแสดงค่าแรงขั้นต่ำปี พ.ศ. 2565

ลำดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
(บาท/วัน)
จำนวน
(จังหวัด)
เขตท้องที่บังคับใช้
13543จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต และระยอง
23536กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
33451จังหวัดฉะเชิงเทรา
43431จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
534014จังหวัดกระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
63386จังหวัดกาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม
733519จังหวัดกาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์
833222จังหวัดกำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี
93285จังหวัดนราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี

โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้ได้เริ่มต้นใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีผลเป็นการปรับเปลี่ยนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิม

ค่าจ้างขั้นต่ำคืออะไร และมีหลักการเบื้องหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไร

“ค่าจ้างขั้นต่ำ” คือ อัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดบนวิธีคิดว่า อัตราค่าจ้างดังกล่าวเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น[3]

กล่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น “ค่าจ้างขั้นต่ำ” คือ การที่รัฐเข้าไปแทรกแซงทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดราคาขั้นต่ำของค่าจ้างมิให้ต่ำไปกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป้าหมายของการแทรกแซงดังกล่าวก็เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเพิ่มค่าจ้าง และช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชากร และทำให้การกระจายรายได้เป็นธรรมมากขึ้น[4]

อย่างไรก็ดี ทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ (ในอดีต) มักจะอธิบายว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมีผลเสียที่เกิดขึ้น และอาจจะไม่ได้ดีกับแรงงานเสมอไป เพราะในแง่หนึ่งการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการให้สูงขึ้น โดยสมมติให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมอยู่ที่ 300 บาท ต่อมามีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมาเป็น 360 บาท ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น 60 บาท ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยอาจจะต้องลดจำนวนแรงงานลงหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไปพึ่งพาเครื่องจักรมากขึ้น ซึ่งหากเป็นธุรกิจประเภท SMEs และอุตสาหกรรมประเภทต้องใช้แรงงานคนที่เข้มข้นก็อาจจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้ส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลัก และการเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรอาจจะไม่ช่วยอะไร

นอกจากนี้ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะกระทบการลงทุนจากต่างประเทศ และทำให้เกิดการเปลี่ยนฐานการลงทุนไปยังต่างประเทศแทน ซึ่งทำให้จำนวนแรงงานที่จะตกงานเพิ่มขึ้นอีก[5] (อย่างไรก็ดี การประเมินภาพในลักษณะดังกล่าวอาจจะไม่จริงเสมอไป และในปัจจุบันก็มีงานวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ยืนยันว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดการว่างงานมากเท่าใดนัก)

ด้วยเหตุที่การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบต่อสังคมในด้านต่างๆ มาก ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้โดยลำพัง ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นหลักการเบื้องหลังของการกำหนดอัตราค่าจ้างก็คือ “การเจรจา” บนฐานคิดว่าควรจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเท่าใด โดยโจทย์สุดท้ายของการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะกลับไปสู่กระบวนการเจรจาและใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำระหว่างผู้แทน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน[6] โดยจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากตัวเลขเดิมก่อนหน้านี้เท่าใด ซึ่งผลสรุปที่ได้ก็คือ ตัวเลขดังปรากฏตามตารางข้างต้น

ค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต?

การที่รัฐบาลเข้ามากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อีกแง่หนึ่งมีผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน เพราะหากไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ยกตัวอย่างเช่นในช่วงปี พ.ศ. 2555 – 2556 ได้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้บางจังหวัดหรือบางพื้นที่ มีอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 2 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิม เช่น ในจังหวัดพะเยา ก่อนหน้าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบาย 300 บาท มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 159 บาท เป็นต้น[7] ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานในพื้นที่นั้นให้ดีขึ้น

ทว่า ปัญหาของประเทศไทย คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดกันในวันนี้เหมาะสมหรือไม่ ดังกล่าวมาแล้วว่า หลักการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดบนพื้นฐานของการมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพของแรงงานในแต่ละวันเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงสถานะหรือความจำเป็นที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของแรงงาน

ผลก็คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตประจำวัน สิ่งนี้นำมาสู่การตั้งคำถามจาก 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรกำหนดด้วยฐานคิดว่า “ควรเพิ่มเท่าไหร่” ไม่ใช่ “ควรเป็นเท่าไหร่” ในบทความชื่อว่า “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต”

ประเด็นที่ 101 PUB ได้ยกขึ้นมากล่าวอย่างน่าสนใจก็คือ ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำควรจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดต่อปัจจัยการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเสียใหม่ โดยวิธีการที่ใช้สำหรับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน คิดจากฐานของการใช้ตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำเดิมมาเป็นตัวกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ แล้วจึงค่อยพิจารณาปรับและกำหนดจำนวน โดยดูจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยอาจพิจารณาเพิ่มเติมด้วยอัตราสมทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (ตามคำชี้แจงการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ)[8]

ทว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยวิธีการดังกล่าวมีปัญหา เพราะค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ โดย 101 PUB ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาค่าจ้างขั้นต่ำไทยเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มน้อยกว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย และ GDP per Capita เป็นต้น ซึ่งทาง 101 PUB ได้ดำเนินการเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ. 2556 – 2563 ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (average wage) เพิ่มขึ้น 108 บาทต่อวัน กลายเป็น 587 บาทต่อวัน GDP per Capita เพิ่มขึ้น 151 บาทต่อวัน กลายเป็น 757 บาทต่อวัน แต่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 28-54 บาทต่อวัน กลายเป็น 328-354 บาทต่อวัน และเมื่อพิจารณาจากค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมูลค่าที่แท้จริง (ขจัดผลของอัตราเงินเฟ้อออก) ยิ่งสะท้อนว่า แนวทางการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน ไม่สามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดีขึ้นได้[9]

ประเด็นดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอในการปรับปัจจัยที่ใช้ในการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากปัจจัยค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน ยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ประกอบ เพื่อให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานมากขึ้น

101 PUB จึงเสนอว่า ควรเปลี่ยนปัจจัยในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นการคิด “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” (living wage) โดยค่าตอบแทนสำหรับการทำงานตามเวลาปกติ ที่ทำให้แรงงานเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทาง เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในการใช้ชีวิตตามมาตรฐานของสังคม ตลอดจนการเตรียมตัวรับมือกรณีฉุกเฉิน[10]

การปรับแก้ปัจจัยในการคิดค่าจ้างขั้นต่ำนี้จะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงมีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคงต่อการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ดังนั้น การทบทวนปัจจัยในการคิดค่าจ้างขั้นต่ำ จึงเป็นโจทย์ใหญ่อีกข้อหนึ่ง ที่สังคมไทยต้องเร่งผลักดันกันต่อไป


เชิงอรรถ

[1] The Standard, ‘ครม. เคาะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ มีผล 1 ต.ค. 2565 ตามกรอบที่เสนอ กทม.-ปริมณฑล 353 บาท’ (The Standard, 13 กันยายน 2565) <https://thestandard.co/cabinet-minimum-wages/> สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2565.

[2] The Standard, ‘เปิดค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้น 5% ทั่วประเทศ มีผล 1 ตุลาคม 2565’ (The Standard, 26 กันยายน 2565) <https://thestandard.co/minimum-wage-year-2022/> สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2565.

[3] คำชี้แจงประกาศคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11).

[4] ศศิวิมล ตันติวุฒิ, ‘ค่าจ้างขั้นต่ำช่วยแรงงานจริงหรือ?’ (TDRI, 22 กันยายน 2559) <https://tdri.or.th/2016/09/does-minimum-wage-effective/> สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2565.

[5] เพิ่งอ้าง.

[6] คำชี้แจงประกาศคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11).

[7] รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์, ‘ค่าแรงขั้นต่ำ ทำไมถึงต้องสูง?’ (The 101 world, 2 ธันวาคม 2564) <https://www.the101.world/why-high-minimum-wage/> สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2565.

[8] กษิดิ์เดช คำพุช, ‘ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต’ (The 101.world, 29 กันยายน 2565) <https://www.the101.world/minimum-wage-to-living-wage/> สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2565.

[9] เพิ่งอ้าง.

[10] เพิ่งอ้าง.

PRIDI Economic Focus: เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผลักดันเศรษฐกิจไทยด้วยอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกม
วัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิดที่ขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ