เวลากลไกแห่งอำนาจของชนชั้นนำสยาม

วันนี้ได้มีโอกาสอ่านบทความของคุณวิภัส เลิศรัตนรังษี ชื่อว่า “เวลาอย่างใหม่” กับการสร้างระบบราชการสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ในนิติยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 42 ฉบับที่ 1 พฤศิจกายน 2563

ความน่าสนใจของบทความนี้คือ การหยิบเอา “เวลา” ซึ่งเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ชนชั้นนำสยามในสมัยใช้สร้างระบบราชการแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือ “กรุงเทพ” ในบทความนี้ได้บอกเล่าถึงระบบเวลาแบบใหม่ที่นำมาใช้ในสยาม โดยระบบเวลาแบบใหม่นี้ประกอบไปด้วยกลไก 2 ประการสำคัญคือ ประการแรก ปฏิทินซึ่งเปลี่ยนจากการใช้ปฏิทินแบบจันทรคติมาเป็นปฏิทินสุริยคติตามระบบเกรโกเรียนแบบตะวันตก และประการที่สองคือ การนับเวลาโดยใช้นาฬิกากล ซึ่งแต่เดิมสยามใช้การบอกเวลาแบบโมงยาม และในการนับเวลานั้นก็แตกต่างกันไปตามพื้นที่

ผลของการเปลี่ยนมาใช้ระบบเวลาแบบใหม่นี้เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีประกาศให้ใช้เวลาแบบใหม่ในระบบราชการ ซึ่งส่งผลให้การนับวันเดือนปีแบบเดิมเปลี่ยนไป (เดิมจะนับเดือนแบบไทยก็จะเป็นเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่) มาเป็นการนับเดือนแบบตะวันตกแบบในปัจจุบัน และทรงให้ใช้รัตนโกสินทร์ศกแทนการใช้จุลศักราช ซึ่งนับปีตามแบบจันทรคติ การใช้ระบบปฏิทินแบบใหม่นี้ส่งผลต่อระบบราชการที่จะใช้วันเดือนปีในแบบเดียวกันตลอดทั่วทั้งดินแดนสยาม และเมื่อระบบรวมศูนย์อำนาจก่อร่างสร้างตัวจนแน่นอนแล้ว การใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ จึงเป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับการใช้ระบบเวลาแบบใหม่ ทั้งการกำหนดวันจัดเก็บภาษี วันส่งภาษีมาส่วนกลาง วันประชุมเพื่ออนุมัติงบประมาณแผ่นดิน และการส่งงบประมาณแผ่นดินไปยังดินแดนต่างๆ ภายใต้การปกครองของสยาม

ในด้านการนับเวลาแบบนาฬิกากล ได้สร้างระบบการเข้าทำงานที่ชัดเจนโดยแยกเวลาการทำงานออกจากเวลาส่วนตัว ซึ่งแต่เดิมการรับราชการนั้นเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยและอัธยาศัยของผู้บังคับบัญชา แต่ระบบราชการแบบใหม่นี้ได้กำหนดเวลาการเข้าทำงานที่แน่นอนขึ้นมา โดยเริ่มจาก 10.00 – 17.00 น. ซึ่งเป็นการนับเวลาแบบนาฬิกากล ซึ่งเริ่มแพร่หลายนับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และเมื่อตั้งกระทรวงทั้ง 12 สำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 กระทรวงต่างๆ ก็มีชั่วโมงการทำงานที่แน่นอน

อย่างไรก็ตามในกรณีเวลาราชการนั้นอาจมีความแตกต่างกันตามส่วนราชการบ้างทั้งเพราะขึ้นกับพระราชอัธยาศัยของผู้บังคับบัญชา เช่น กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงโปรดปราณการทำงานเวลากลางคืน ซึ่งเป็นธรรมดาของเชื้อพระวงศ์ราชสำนักสยาม ทำให้เวลาการทำงานของกระทรวงต่างประเทศแตกต่างไปจากส่วนราชการอื่นบ้าง เป็นต้น ในขณะที่บางส่วนราชการมีความสำคัญมากจึงต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงและตลอด 7 วัน เช่น กรมราชเลขาธิการ เป็นต้น ซึ่งในประเด็นนี้จะเห็นได้ว่าค่าของเวลาของคนนั้นไม่เท่ากัน เวลาของคนธรรมดาไม่สามารถกำหนดให้การทำงานของคนๆ อื่นเปลี่ยนแปลงไปได้ อย่างไรก็ตาม เจ้านายบางพระองค์ก็ทรงเคร่งครัดกับการใช้เวลาระบบใหม่อย่างมาก เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น

นอกจาก เรื่องนี้อีกสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ระบบเวลาเดิมนั้นให้ความสำคัญทางศาสนามาก วันพระจะเป็นวันหยุดราชการเสมอ แต่ภายใต้ระบบใหม่รัฐสยามกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการแทนเพื่อให้เกิดความแน่นอน แต่การนำระบบเวลาแบบใหม่นี้มาใช้ก็ยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของราษฎร ซึ่งยังใช้ระบบเวลาแบบดั้งเดิม (จารีต) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นอกกรุงเทพ ทำให้ในตอนท้ายต้องมีการปรับเปลี่ยนให้วันพระกลับมาเป็นวันหยุดราชการอีกครั้งหนึ่งในบางพื้นที่

ในช่วงแรกระบบเวลาของสยามนั้นยังคงแบ่งออกเป็นระบบเวลาแบบใหม่คือ ระบบเวลาที่สถาปนาขึ้นโดยรัฐสยามเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้กับระบบราชการ กับระบบเวลาดั้งเดิม (จารีต) ซึ่งใช้กันในหมู่ราษฎร อย่างไรก็ตาม การที่ระบบเวลาเป็นดั้งเช่นในปัจจุบันก็ได้สะท้อนชัยชนะของระบบเวลาแบบใหม่ที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้นมา

โดยส่วนตัวรู้สึกว่าบทความนี้น่าสนใจในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการมองระบบเวลาซึ่งชนชั้นนำสยามนำมาใช้ในการรวมและรักษาอำนาจ

เทวะประติทิน พระพุทธศักราช 2462” สร้างตามปฏิทินปรับเทียบของพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ จาก มติชน

เล่าเรื่องคุณเสริม วินิจฉัยกุล
แปลรักฉันด้วยใจเธอกับความเป็นชายที่พร้อมจะกดทับทุกคน