ไว้อาลัย ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์: ชีวิตกับบทบาทในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ไทย

‘ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์’ เป็นบุคคลสำคัญบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญกับวงการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2528 – 2535 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาวงการตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

ชีวิตวัยเด็กกับการโยกย้ายไปมา

ดร.มารวย เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2472 (ช่วงเวลา 3 ปี ก่อนการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง) ที่ตำบลห้วยสัก อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเป็นบุตรของนายมา และนางถนอม ผดุงสิทธิ์ ในช่วงวัยเด็กของ ดร.มารวย นั้นมีการโยกย้ายที่อยู่หลายครั้งตามบิดาซึ่งเป็นข้าราชการอยู่ในกรมรถไฟ (การรถไฟแห่งประเทศไทยในสมัยนั้น) โดยเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และได้มีการย้ายโรงเรียนตามบิดาอีกหลายครั้งจนกระทั่งได้เข้ามาศึกษาที่กรุงเทพมหานครภายหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ณ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ

ในขณะกำลังเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ได้หยุดเรียน และเดินทางกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดอุตรดิตถ์จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ซึ่ง ดร.มารวย ได้เคยมีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวในช่วงหลังสงครามจบลงนั้น ‘คุณดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล’ ถึงช่วงเวลาในวัยเด็กและความดีใจของคนไทยในเวลานั้นเรื่องสงครามสิ้นสุดลงและคุณูปการของเสรีไทยและ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ที่ขับเคลื่อนและดำเนินขบวนการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ท่านมีความสนใจเรื่องราวของนายปรีดี พนมยงค์ นับตั้งแต่นั้น

เมื่อสงครามจบลง ดร.มารวย จึงได้เดินทางกลับมาศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาต่อโดยได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) ในรุ่นที่ 8 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้าย แต่เมื่อบิดาล้มป่วยและออกจาราชการก็ทำให้ครอบครัวยากลำบาก ดร.มารวย ในเวลานั้นจึงได้ลาออกจากการเรียนต่อและหาเริ่มต้นประกอบอาชีพเพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัว

การเริ่มต้นทำงานในรับราชการและนิสัยการเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน

ในช่วงแรกของชีวิตการทำงาน ดร.มารวย เริ่มต้นทำงานในกรมรถไฟ ในเวลาต่อมาจึงได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่กรมชลประทาน และกรมบัญชีกลางตามลำดับ ซึ่งในขณะนั้นก็ได้สอบมีโอกาสสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 และสมัครเข้าศึกษาต่อที่คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี 2504 และได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักบัญชี สังกัดกองระบบบัญชี กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งในเวลานั้นได้กระทรวงการคัลงได้มีทุนการศึกษาให้ข้าราชการไทยไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ดร.มารวย ในเวลานั้นจึงได้สมัครสอบชิงทุนของกระทรวง และได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยซีราคิว (Syracuse University) มลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาก็ได้กลับมาปฏิบัติงานต่อ ณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

ดร.มารวย เป็นผู้หนึ่งที่มีนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนและรักในการศึกษา เมื่อปฏิบัติงานอยู่ ณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อมีโอกาสก็จะเขียนบทความด้านวิชาการต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความคิดเป็นประโยชน์ลงในวารสารวิชาต่างๆ เป็นจำนวนมาก เวลาที่ ดร.มารวย ต้องการหาข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการค้นคว้าก็จะได้เดินทางไปค้นคว้าข้อมูลประกอบที่ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่เสมอ

การไปค้นข้อมูลเพื่อนำมาเขียนบทความด้านวิชาการนั้นทำให้มีโอกาสได้พบกับอาจารย์ชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ทราบว่าจะมีโครงการเตรียมจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เพื่อเปิดสอนด้านบริหารธุรกิจในระดับปริญญาโท ซึ่ง ดร.มารวย ได้ให้ความสนใจ และได้สอบชิงทุนของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านการบริหารธุรกิจ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี 2515 และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดร.มารวย เป็นผู้หนึ่งที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงที่เรียกว่าเป็น “ยุคเริ่มวางรากฐานและพัฒนา” โดยเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 5 (2528 – 2535) เวลานั้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังตั้งอยู่ ณ อาคารสินธร ถนนวิทยุ

เมื่อเริ่มรับตำแหน่งในปี 2558 ดร.มารวย ได้อธิบายสถานการณ์ในเวลานั้นว่าเป็นช่วงที่ฐานะการเงินของประเทศกำลังประสบปัญหา ซึ่งในเวลานั้นสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้จัดสัมมนาเรื่องทิศทางเศรษฐกิจไทย การสัมมนาในครั้งนั้นทุกคนค่อนข้างมองอนาคตของประเทศไทยไปในทิศทางที่ถดถอยหรือเศร้าหมอง ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารจัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในช่วงปี 2529 ประเทศไทยมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 5 ครั้ง และรัฐบาลให้ความสนใจที่จะพัฒนาตลาดทุนอย่างจริงจัง ซึ่งนำมาสู่การปรับลดอัตราภาษีที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนอย่างจริงจัง และแก้ไขระเบียบการปริวรรตเงินตราเพื่อส่งเสริมผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2529 เพิ่มขึ้นเป็น 29,848.22 ล้านบาท และดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปิด ณ สิ้นปีระดับ 207.20

ในแง่บรรยากาศการทำงานในช่วงเวลาที่ ดร.มารวย ทำงานเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นได้พยายามสร้างบรรยากาศการทำงานที่ให้โอกาสทุกคนได้แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมกับการทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตน

“ปรัชญาการทำงานของผมกับพนักงานก็คือ เราจะทำงานกันเป็นทีม การตัดสินใจนั้นทุกคนมีส่วนร่วม โดยผมจะเป็นผู้รับผิดชอบตามหน้าที่ และให้มีการกระจายความรับผิดชอบให้มากที่สุด”

นอกจากการสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ดร.มารวย มีบทบาทสำคัญในงานพัฒนาเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งการซื้อขายที่ยุติธรรม โดยการพัฒนาระบบซื้อขายหลักทรัพย์ให้ระบบมีความยุติธรรม และมีประสิทธิภาพโดยนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2534 และเริ่มพัฒนาระบบการให้บริการหลังการซื้อขายให้มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มเปิดรับฝากหุ้นจากบริษัทสมาชิกเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2531

ภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ ดร.มารวย ในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์คือ การเพิ่มจำนวนหลักทรัพย์และพัฒนาตราสารใหม่ๆ เช่น รณรงค์ให้กิจการต่างๆ เข้าใจและสนใจที่จะจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีส่วนร่วมกับหอการค้าจังหวัดและสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ให้รับหุ้นกู้แปลสภาพและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (Warrants) เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจ

นอกจากงานพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยตรงแล้ว ดร.มารวย ยังมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในมุมอื่น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งสนับสนุนการระดมทุนระยะยาว เช่น การสนับสนุนให้จัดตั้งสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในปี 2533 และสนับสนุนสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อจัดตั้งสถาบันจัดอันดับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ในเวลาต่อมา

แม้การขับเคลื่อนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเวลานั้นหลายอย่างเมื่อมองย้อนไปจากเวลาในปัจจุบันนั้นอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในเวลานั้นต้องถือว่าเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่พึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2517 ให้มีความมั่นคงและเป็นแหล่งสนับสนุนการระดมทุนในระยะยาวของประเทศอย่างมีคุณภาพ การบริหารตลาดหลักทรัพย์ในเวลานั้นยังเป็นความท้าทายค่อนข้างมาก และในเวลานั้นยังไม่มีองค์กรกำกับกิจการหลักทรัพย์แบบสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ ดร.มารวย ดำรงตำแหน่งอยู่นั้นมีความคึกคักมากโดยเฉพาะในช่วงปี 2530 มีการเข้ามาเก็งกำไรมาก ทำให้เกิดการซื้อขายในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม และยังขาดมาตรการที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของการบริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลอดช่วงเวลาที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์นั้น ดร.มารวย ได้ผ่านสถานการณ์สำคัญหลายประการที่ส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2528 เหตุการณ์  “Black Monday” ที่ราคาหุ้นตกต่ำลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดต่างประเทศยาวนานกว่า 2 เดือนโดยเริ่มต้นในวันที่ 19 ตุลาคม 2530 เหตุการณ์ “Mini Black Monday” ที่เกิดจากตลาดต่างประเทศในวันที่ 13 ตุลาคม 2532 และส่งผลต่อราคาหุ้นไทยวันทำการวันแรก (วันจันทร์) หลังจากวิกฤตการณ์คือ 16 ตุลาคม 2532 เหตุการณ์วิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซีย ในวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมัน ตลาดเงิน และตลาดหุ้นทั่วโลก บทบาทของ ดร.มารวย ในฐานะของผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ในเวลานั้นมีความสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการท่ามกลางวิกฤตการณ์  อย่างไรก็ตาม ข้อคิดสำคัญที่ ดร.มารวย ให้ไว้ในการบริหารตลาดหลักทรัพย์ในช่วงวิกฤตก็คือ การประสบความสำเร็จของตลาดหลักทรัพย์เป็นผลงานจากการทำงานของคนทุกฝ่ายและการทำงานร่วมกันเป็นทีม มิใช่ผลงานของบุคคลหนึ่งบุคคลใด

“ตลาดหลักทรัพย์ของเราประสบความสำเร็จได้มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายและการทำงานเป็นทีม มิใช่ทำงานด้วยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะฉะนั้น ผู้จัดการคนใหม่ก็จะทำงานในระบบตามแนวที่วางไว้ ผู้จัดการมาแล้วก็ไป แต่พนักงานประจำนั้นต้องอยู่ตลอดไป ขอให้ทุกคนตระหนักอยู่เสมอว่า ตราบใดที่มีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน อุทิศกำลังกายกำลังใจในการทำงาน มองไกลไปข้างหน้าตลาดหลักทรัพย์ของเราก็พัฒนาตลอดไป”

บทบาทความสำคัญของ ดร.มารวย ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นมีความสำคัญอย่างมาก และเพื่อเป็นเกียรติให้กับ ดร.มารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้เปลี่ยนชื่อห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็น “ห้องสมุดมารวย” เพื่อเป็นเกียรติแด่ ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดร.มารวย กับ ดร.ปรีดี

นอกจากงานด้านวิชาการและงานเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ดร.มารวย ก็ให้ความสำคัญกับงานทางสังคมต่างๆ และงานด้านหนึ่งที่ท่านให้ความสำคัญก็คือ การเชิดชูเกียรติของ ‘ศาสตาจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์’ รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศไทย โดยการรับอาสาเป็นประธานมูลนิธิในช่วงปี 2554 – 2557 โดยท่านมีผลงานสำคัญในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานครบรอบชาตกาล 110 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ อีกทั้งผลักดันให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ ดร.มารวย ได้ให้ความเคารพและได้รู้จักในวัยเด็ก ความกรุณาของ ดร.มารวย ต่อมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มีอยู่อย่างมาก แม้จะล่วงเลยในวัยชรา 90 ปีแล้ว แต่การได้สนับสนุนเรื่องราวของ ศาสตาจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นสิ่งที่ท่านให้ความสำคัญมาก

บทบาทของ ดร.มารวย ในสังคมไทยนั้นยังมีอยู่อีกมากมายหลายด้าน และเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาสามัญคนอื่นๆ นั้นเมื่อจากโลกนี้ไปก็มีเพียงแต่คุณงามความดีเท่านั้นที่จะให้คนรุ่นถัดไปได้ระลึกถึง ซึ่ง ดร.มารวย นั้นก็เป็นต้นแบบหนึ่งของบุคคลที่มีคุณงามความดีให้บุคคลได้ระลึกถึง ทั้งในความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และความพยายามในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ้างอิงจาก

  • ตรี ภวภูตานนท์ “นักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์ 8 หรือ 500” ใน สุโข สุวรรณศิริ และสมาน ศักดิ์สงวน  (บรรณาธิการ) ปรีดีสารฉบับพิเศษ งานรำลึก ปรีดี พนมยงค์ 66 ปี ต.ม.ธ.ก. ในโอกาส ม.ธ.ก. 70 ปี (ชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์ 2543).
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 6 ปี ของ ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ กับงานพัฒนาตลาดหลักทรัพย์(ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2535).
  • บุญลาภ ภูสุวรรณ, “การเดินทางแห่งชีวิต” ร้อยเรียงเรื่องเล่า 30 ปี (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) (บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2548).
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ‘รู้จัก ก.ล.ต.’ (ก.ล.ต.) https://www.sec.or.th/TH/Pages/AboutUs/TheFoundationoftheSEC.aspx สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2564.
  • สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ‘บุคคลสำคัญของท้องถิ่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์’ http://webhost.m-culture.go.th/province/prachuapkhirikhan/PDF/770600.pdf สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2564.
  • ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ‘เกี่ยวกับห้องสมุดมารวย’ (ห้องสมุดมารวย) https://www.maruey.com/about สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2564.

การเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานไทยในเดือนตุลา
สันติประชาธรรมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ