การร่างกฎหมายอย่างเป็นหลักวิชาการยังห่างไกล

ภาพประกอบจาก: the blue diamond gallery

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้มีข้อเสียมากกว่าข้อดี และเกินกว่าที่จะยอมรับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของรัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ในบรรดาข้อดีที่มีอยู่น้อยนิดนั้นที่ได้มาบัญญัติไว้ในตราสารที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญนี้ คือ การกำหนดให้การร่างกฎหมายจะต้องเป็นหลักวิชาการมากขึ้น โดยบัญญัติไว้ในบทบัญญัติมาตรา 77 บัญญัติว่า

มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

บทบัญญัติในทั้งสามวรรคของมาตรา 77 นั้น เป็นความพยายามเปลี่ยนให้การร่างกฎหมายเป็นวิชาการมากขึ้น และลดทอนความเป็นการเมืองในกฎหมายลงโดยให้สอดคล้องกับข้อมูลในเชิงประจักษ์มากขึ้น แน่นอนว่าการร่างกฎหมายทุกอย่างย่อมมาจากนโยบาย และคณะรัฐมนตรีก็ผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายายที่ได้แถลงไว้ต่อหน้าที่ประชุมรัฐสภา แต่เมื่อการออกกฎหมายเป็นการไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และขัดขวางกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน การร่างกฎหมายจึงควรเป็นไปตามหลักวิชาการให้มากกว่านี้ และสามารถใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการวิเคราะห์ได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่นั้นให้ความสำคัญไปกับแบบของการร่างกฎหมายมากกว่าเนื้อหาของกฎหมาย ซึ่งเป็นลักษณะส่วนใหญ่ของการร่างกฎหมายในประเทศไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีาซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการร่างกฎหมาย ทำให้ในการร่างกฎหมายจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถกเถียงในเชิงถ้อยคำของกฎหมายและรูปแบบการวางรูปประโยคของกฎหมายมากกว่า

ในด้านเนื้อหาของกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้พยายามที่จะกำหนดแนวทางในการร่างกฎหมายโดยคำนึงถึงหลักการในทางนิติศาสตร์ต่างๆ แต่ในความคิดของผู้ร่างกฎหมายของหน่วยงานภาครัฐยังไม่เปิดรับแนวคิดของการนำศาสตร์อื่นมาใช้ประกอบในการร่างกฎหมาย เช่น การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ หรือการใช้เครื่องมือทางสังคมวิทยา เป็นต้น ซึ่งปัญหานี้อาจจะมาจากหลายส่วนด้วยกันทั้งความไม่รอบรู้ในทางวิชาการสาขาต่างๆ ของผู้ร่างก็ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็คือ การใช้กฎหมายเปรียบเทียบเป็นเครื่องมือหลักในการร่างกฎหมาย โดยขาดบริบทแวดล้อมของกฎหมายนั้น

นอกจากนี้ การร่างกฎหมายมีแนวโน้มจะร่างจากอุดมคติหรือทัศนะส่วนบุคคลของผู้ร่างโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของบริบททางสังคม และเนื่องจากผู้ร่างกฎหมายไม่มีข้อมูลที่สมมาตรพอ ทำให้การตัดสินใจเป็นไปโดยผิดพลาด และพยามยามตรากฎหมายให้ครอบคลุมเกินกว่ากรณี เพราะผู้ร่างไม่มีข้อมูลหรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แม้ว่าในความเป็นจริงภาครัฐจะเต็มไปด้วยเอกสารมากมายที่ขอให้ประชาชนยื่นมาให้ตนก็ตาม แต่มันก็ผสมปนเปกันไปหมดจนหาดีได้ยาก

ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้หากร่างกฎหมายอย่างเป็นหลักวิชาการยังห่างไกลอีกมาก

เศรษฐศาสตร์​พฤติกรรม ฉบับเข้าใจง่ายที่สุดในโลก!
Rule บนเนยแข็ง