ความเข้าใจเกี่ยวกับอุษาคเนย์ของนักกฎหมายไทย

เมื่อช่วงทีผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้สมัครเรียนหลักสูตรภาคฤดูร้อน Summer School 2022 ของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาในหัวข้อเกี่ยวกับสตรีศึกษา เควียร์ และอุษาคเนย์ ซึ่งในการสมัครเรียนคราวนี้ทางผู้จัดได้ขอให้ผู้สมัครทุกท่านเขียนเรียงความเกี่ยวกับอุษาคเนย์กับตัวเองมาส่งเพื่อประกอบการรับสมัครเข้าเรียน ผู้เขียนได้ลองพยายามเขียนเรียงความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยพยายามที่จะเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เขียนมากๆ ก็คือ ตัวผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายนั้นมีความรับรู้เกี่ยวกับอุษาคเนย์น้อยมาก ทั้งๆ ที่อุษาคเนย์เป็นภูมิภาคที่ผู้เขียนเกิดและเติบโตมาโดยตลอด และแม้ว่านักกฎหมายจะทำงานในสังคมก็ตาม เรียงความนี้จึงพยายามเล่าความไม่รู้ที่เกิดขึ้นกับนักกฎหมายบางส่วน โดยผู้เขียนพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวเข้ากับกฎหมาย


ในฐานะนักศึกษากฎหมาย การศึกษาเกี่ยวกับอุษาคเนย์นั้นเป็นสิ่งที่ห่างไกล เพราะโดยสภาพของการศึกษากฎหมายนั้นจะเป็นการศึกษากฎหมายของประเทศไทยเป็นหลัก และอาจจะมีการศึกษาหลักการของกฎหมายต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็เฉพาะประเทศที่ระบบกฎหมายที่มีผลกระทบต่อระบบกฎหมายไทย เช่น ประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น ในขณะที่องค์ความรู้เกี่ยวกับอุษาคเนย์หรือประเทศไทยนั้นแทบจะไม่ปรากฏในเนื้อหาของการเรียนอย่างแท้จริง

ผมเริ่มมีโอกาสได้ศึกษาและทำความรู้จักเกี่ยวกับอุษาคเนย์เมื่อผมเรียนจบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ ที่ทำให้มีโอกาสและมีเวลาได้อ่านหนังสืออย่างอื่นเพิ่มมากขึ้น ความสนใจเกี่ยวกับอุษาคเนย์ของผมจึงเพิ่มมากขึ้นจากการได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ สิ่งที่ผมค้นพบก็คือ อุษาคเนย์นั้นมีความหลากหลายมากกว่าที่เคยเข้าใจ และแม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีความหลากหลายมากกว่าที่เคยเข้าใจ การละทิ้งเส้นทางของนิติศาสตร์กระแสหลักและกลับมาศึกษาศาสตร์ต่างๆ ให้รอบด้านมากขึ้นทำให้ผมค้นพบว่า ระบบกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นเสมือนของแปลกปลอมที่เข้ามาในวัฒนธรรมเดิม

ตัวอย่างเช่น กฎหมายครอบครัวที่ว่าด้วยการสมรสนั้นเป็นของใหม่ที่เข้ามาใช้ในประเทศไทยแทนกฎหมายลักษณะผัวเมียตามกฎหมายตราสามดวง โดยกฎหมายปัจจุบันนั้นตั้งอยู่บนหลักการของประเทศแบบประเทศภาคพื้นทวีปยุโรปภายใต้คติแบบผัวเดียวเมียเดียว แต่กฎหมายดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในพื้นที่ประเทศไทยในปัจจุบันที่สถาบันครอบครัวนั้นเป็นคติแบบหลายผัวหลายเมีย ทำให้เมื่อกฎหมายเข้ามาก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักการบางประการในขณะที่ศาลที่นำกฎหมายมาใช้ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักการให้แตกต่างไป แต่ความซับซ้อนของปัญหาดังกล่าวมีมากกว่านั้น อาทิ กฎหมายครอบครัวต้องมีความพยายามการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเชื่อ โดยในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ต้องมีการกำหนดให้ใช้กฎหมายที่แตกต่างไป เพื่อรองรับวิธีการสมรสตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม นัยดังกล่าวสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่ต้องพยายามปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมเดิมอย่างไรก็ดี ไม่ใช่เพียงแค่กฎหมายที่มีการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมเดิม แต่วัฒนธรรมเดิมก็มีการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัญหาไปอีกรูปแบบหนึ่ง อาทิ ในความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่มีวัฒนธรรมนับถือผีนั้น การสมรสมิเพียงแต่นำมาซึ่งสถานะทางกฎหมาย แต่นำซึ่งสถานะทางความเชื่อและประเพณี การสมรสเป็นการเปลี่ยนข้างจากการนับถือผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิงไปสู่การนับถือผีบรรพบุรุษของฝ่ายชาย และการหย่าจึงไม่ใช่การเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการตัดขาดจากสถานะทางความเชื่อและประเพณีภายใต้ผีบรรพบุรุษของฝ่ายชาย ผู้หญิงชาวม้งจะกลายเป็นคนเถื่อนในสังคม เพราะไม่ได้รับการคุ้มครองและมีส่วนร่วมทางพิธีกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่หากศึกษาแค่กฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้เห็นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง

อุษาคเนย์ในความรู้ของผู้เขียนนั้นมีอยู่น้อยมาก แต่ก็เป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความน่าสนใจในเรื่องความหลากหลาย แม้แต่ในกรณีของประเทศไทยก็มีความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายในมาตรฐานแบบเดียวกันอาจจะมีความไม่สอดคล้องกันในเชิงวัฒนธรรมที่เป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่มาก่อน

สภาพบังคับของกฎหมายวินัยทางการคลังของไทย
PDPA กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ทำความเข้าใจบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล