ครั้งแรกในเมียนมาร์ #Myanmar First Time (2): เรื่องเล่า เล่าเรื่อง เกี่ยวกับเจดีย์

คนเมียนมาร์โดยเฉพาะชาติพันธ์ุพม่ามีความนิยมสร้างเจดีย์ จะเห็นได้ว่าวัดสำคัญๆ ในพม่าที่แลนด์มาร์กของการท่องเที่ยวมักจะมีเจดีย์ประดิษฐานอยู่ เพียงแต่เจดีย์ต่างๆ อาจจะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันตามยุคสมัย สกุลช่าง และอิทธิพลของศิลปะในยุคสมัยนั้นๆ หลายคนอาจจะเคยเห็นทะเลเจดีย์ในเมืองพุกาม เมื่องอื่นๆ ในเมียนมาร์เองก็มีเจดีย์เยอะไม่แพ้กันส่วนหนึ่งคงเป็นความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากคติความเชื่อของคนเมียนมาร์ที่น่าสนใจ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดในลำดับต่อไป โดยในบรรดาเจดีย์ที่น่าสนใจที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมในครั้งนี้มีอยู่ 3 เจดีย์ที่มีความน่าสนใจเลยหยิบมาเล่าถึง (นอกเหนือจากเจดีย์ชเวดากองและเจดีย์มุเตา)

เจดีย์แรกที่จะกล่าวถึงคือ เจดีย์โบตะทองหรือเจดีย์โบตะทาว (Botataung Pagoda) เป็นเจดีย์ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำย่างกุ้งบริเวณเดียวกันกับที่ตั้งของศาลสักการะของโบ้โบ้จีหรือเทพทันใจ ชื่อเจดีย์โบตะทองแปลว่า “ทหาร 1,000 นาย” เจดีย์สร้างขึ้นโดยชาวมอญในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับเจดีย์ชเวดากองหรือเมื่อราวๆ 2,500 ปีก่อน ตามตำนานเล่าว่ากษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินในเวลานั้นได้จัดตั้งแถวทหาร 1,000 นาย เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะแด่พระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระโคตมะพุทธเจ้า) ซึ่งพ่อค้าสองพี่น้องชาวพม่าได้อัญเชิญมาจากอนุทวีปอินเดียและมาขึ้นฝั่งที่ริมแม่น้ำย่างกุ้งนี้ จึงได้สร้างเจดีย์ไว้สำหรับบรรจุเกศาธาตุหนึ่งเส้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้

ตัวเจดีย์ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหากได้ไปชมเจดีย์โบตะทองแล้ว จะเห็นว่าพื้นที่ข้างในเจดีย์นอกจากบริเวณที่เปิดให้สามารถสักการะเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและนั่งสมาธิภาวนา จะมีพื้นที่พิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมจัดแสดงชิ้นงานศิลปะหรือวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบจากการบูรณะเจดีย์

เจดีย์ที่สองที่น่าสนใจคือ เจดีย์ซูเล่ (Sule pagoda) เป็นเจดีย์ขนาดไม่ใหญ่มากตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่างกุ้ง ใกล้ๆ กับศาลาว่าการเมืองย่างกุ้ง ตามตำนานของพม่าเล่าว่าเจดีย์ซูเล่นั้นสร้างขึ้นก่อนเจดีย์ชเวดากอง โดยเป็นเจดีย์เก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพานทำให้เจดีย์นี้อาจจะมีอายุมากกว่า 2,500 ปี โดยตามตำนานเล่าว่า บริเวณที่เป็นที่ตั้งของเจดีย์นี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิม เพราะเป็นที่เชื่อว่าเป็นที่สถิตของนัตซูเล่ ซึ่งเป็นผู้แนะนำสถานที่ก่อสร้างเจดีย์ชเวดากอง

เจดีย์ซูเล่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางของเมืองตามการออกแบบของ อเล็กซานเดอร์ เฟรเซอร์ (Alexander Fraser) วิศวกรชาวเบงกอลผู้ออกแบบเมืองและวางถนนสายต่างๆ ในย่างกุ้ง โดยเจดีย์ซูเล่อยู่พื้นที่ใจกลางของเมือง โดยถนนเส้นหลักคือ ถนนซูเล่จะมุ่งตรงเข้าหาเจดีย์แล้วจึงเวียนขวาอ้อมด้านหลังเจดีย์เข้าไปตรงพื้นที่ด้านหน้าของศาลากลาง โดยตรงข้ามของเจดีย์ซูเล่จะเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ชื่อว่า มหาพันธุละ (Maha Bandula Park) ซึ่งเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนย่างกุ้ง รวมถึงถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับชุมนุมของคนเมียนมาร์เพื่อต่อต้านรัฐบาลของคณะรัฐประหาร

นอกจากนี้ อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจของเจดีย์ซูเล่คือ รอบๆ กำแพงวัดจะเป็นร้านหมอดูจำนวนมากรายล้อมอยู่รอบๆ โดยเป็นห้องเล็กๆ หลายห้องเรียงกันตามแนวรั้วของเจดีย์ ซึ่งสะท้อนภาพของคนเมียน์มาร์ที่เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อเรื่องโชคชะตาฟ้าดินมากเช่นกัน

เจดีย์ที่สามนี้เขยิบออกมาจากเมืองย่างกุ้งมาที่พะโคหรือหงสาวดี โดยเจดีย์ที่จะพูดถึงนี้คือ เจดีย์ไจ๊ปุ่น (Kyaikpun Pagoda) โดยเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่อยู่กลางทุ่ง โดยเจดีย์ถูกสร้างเป็นรูปพระพุทธเจ้า 4 พระองค์หันหน้าไปคนละทิศกัน คำว่า ไจ๊ปุ่น เป็นภาษามอญ โดยคำว่า ไจ๊ แปลว่า พระ ส่วนปุ่น แปลว่า สี่ ซึ่งสะท้อนภาพของเจดีย์ที่มีรูปปฏิมากรรมขนาดใหญ่ของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์​

ตามตำนานเล่าว่า เจดีย์ไจ๊ปุ่น ถูกสร้างขึ้นโดยพระธิดาสี่พระองค์ของกษัตริย์มอญที่สาบานว่าจะครองตัวเป็นโสดเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาโดยปฏิมากรรมพระพุทธเจ้าแต่ละองค์จะแทนตัวพระธิดาแต่ละพระองค์ ในตำนานได้เล่าต่อว่า วันหนึ่งพระธิดาองค์ที่สี่ ซึ่งเป็นน้องสาวคนเล็กสุดได้พบรักกับชาติหนุ่มที่ชอบพอกันและได้แต่งงานกันในท้ายที่สุด จึงได้เกิดอาเพศขึ้นกับเจดีย์ไจ๊ปุ่น โดยเกิดฟ้าผ่าลงมาที่เจดีย์ทำให้ปฏิมากรรมรูปพระพุทธเจ้าที่เป็นตัวแทนของพระธิดาองค์เล็กพังทลายลง จนได้มีการบูรณะในเวลาต่อมา

ปฏิมากรรมพระพุทธเจ้านี้เป็นพระพุทธรูปทรงปางมารวิชัยประทับนั่ง 4 องค์ โดยทิศเหนือเป็นพระโคตมพุทธเจ้า ทิศใต้เป็นพระโกนาคมนพุทธเจ้า ทิศตะวันออกเป็นพระกกุสันธพุทธเจ้า และทิศตะวันออกเป็นพระมหากัสสปพุทธเจ้า นอกจากนี้ พระพุทธรูปแต่ละองค์ยังมีสีหน้าและอาภรณ์ตกแต่งที่แตกต่างกัน

นอกจากเหตุผลในเรื่องความศรัทธาทางพระพุทธศาสนาแล้ว คนเมียนมาร์โดยเฉพาะชาติพันธุ์พม่านั้นมีคติความเชื่อเกี่ยวกับสร้างเจดีย์โดยมีความหมายซ่อนอยู่ในคำภาษาพม่าที่ใช้เรียกเจดีย์ว่า พาโกด้า (pagoda) ซึ่งมีนัยสองประการคือ ประการแรก แปลว่าเจดีย์หรือสถูปตามความหมายของเจดีย์แบบที่เข้าใจในภาษาไทย โดยในบางครั้งใช้เรียกรวมถึงวัดด้วย และประการที่สอง แปลว่าอนุสาวรีย์ ซึ่งมีนัยในเชิงสัญลักษณ์ 2 ความหมายคือ ความหมายแรกหมายถึงอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า และอีกความหมายหนึ่งคือ การเป็นอนุสาวรีย์ระลึกถึงตัวผู้สร้างเอง ในเชิงเป็นเครื่องแสดงออกถึงบารมีของผู้สร้าง ฉะนั้น ในเมืองแบบย่างกุ้งจะมีเจดีย์เก่าแก่ที่อายุหลายปีสลับกับเจดีย์ใหม่ที่พึ่งถูกสร้างขึ้น

ตัวอย่างของเจดีย์ที่พึ่งสร้างขึ้นในภายหลัง เช่น เจดีย์กาบาอี (Kaba Aye Pagoda) สร้างขึ้นในสมัยของ อู นุ (U Nu) เพื่อรองรับการประชุมพระพุทธศาสนาในเมียนมาร์ และมหาวิชยเจดีย์ (Maha Wizaya Pagoda) ซึ่งสร้างขึ้นโดยนายพลเน วิน (Ne Win) เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการประชุมสังคยานาพระพุทธศาสนาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1980 พร้อมกับการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับสงฆ์ขึ้นมา โดยตำแหน่งของมหาวิชยเจดีย์อยู่ใกล้ๆ กับบริเวณทางขึ้นของเจดีย์ชเวดากอง ความสำคัญของเจดีย์เหล่านี้จึงไม่ได้อยู่ที่ความเก่าแก่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองว่าด้วยบุญบารมี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในความเชื่อของคนในภูมิภาคอุษาคเนย์

นโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมของคณะราษฎร
ปรับปรุง ‘กฎหมายวินัยการคลัง’ ใช้งบก่อนเลือกตั้งรัดกุม