แด่ RBG

ในวันศุกร์ ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563 สำนักข่าวต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาหลายสำนักข่าวได้เผยแพร่ข่าวการเสียชีวิตของ รูธ เบเดอร์ ดินสเบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg) ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (U.S. Supreme Court) วัย 87 ปี สตรีผู้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมที่เป็นธรรมในสังคม

บทบาทของ RGB นั้นมีบทบาทอยู่ด้วยกันหลายเรื่องด้วยกัน RGB มีบทบาทอย่างมากในการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศ อาจจะกล่าวได้เลยว่าตั้งแต่การเริ่มต้นชีวิตกฎหมายของเธอเลยก็ว่าได้ ในฐานะบัณฑิตสตรีทางกฎหมายนั้น RGB ประสบปัญหาอย่างมากในการเริ่มต้นวิชาชีพ เพราะสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นยังเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่มีที่ใดรับบัณฑิตสตรีเข้าทำงานทางด้านกฎหมายเลย แม้แต่กระทั่งในตำแหน่งเสมียนศาล จนกระทั่งในท้ายที่สุดด้วยความช่วยเหลือจาก Gerald Gunther ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายจาก Columbia Law School ที่กดดันให้ Edmund L. Palmonieri ผู้พิพากษาศาลในมหานครนิวยอร์กรับ RGB เข้าทำงานในตำแหน่งเสมียนศาล

RGB ทำงานให้กับ Palmonieri ได้อยู่ 2 ปี ก็ได้หันเหเส้นทางไปทำงานด้านวิชาการโดยเป็นผู้บรรยายอยู่ที่ Ruthers Law School โดยได้รับเงินเดือนต่ำกว่าอาจารย์ผู้ชายที่มีตำแหน่งทางวิชาการเท่ากัน และได้ย้ายไปทำงานที่ Columbia Law School ในปี พ.ศ. 2515 จนถึง พ.ศ. 2523

การเข้าสู่กระบวนการประชาสังคมของ RGB นั้น เกิดจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีให้เสมอภาคกับบุรุษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ RGB ต่อสู้อยู่ตลอดชีวิต แม้กระทั่งในตอนที่ได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาก็ตาม

ในปี พ.ศ. 2515 ได้ร่วมกับมิตรสหายก่อตั้งโครงการ The Women’s Right Project ภายใต้องค์กร The American Civil Liberties Union (ACLU) ซึ่งทำให้เกิดการนำคดีการเหยียดเพศขึ้นสู่การพิจารณาของศาล โดย RGB นั้นรับหน้าที่เป็นทนายความในคดีด้วยขอบเขตการให้ความช่วยของโครงการนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ คดีการเหยียดเพศในผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังรับคดีที่เกิดกับผู้ชายด้วย เพราะเห็นว่าการเหยียดเพศนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้ชายก็สามารถตกเป็นเหยื่อในคดีเหยียดเพศด้วยเช่นกัน ซึ่งคดีจำนวนมากที่ RGB ได้ว่าความเป็นจำนวนมาก และชนะคดีเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

ผลของการนำคดีเหยียดเพศมาสู่การพิจารณาของศาล ทำให้นายจ้างในที่ทำงานมีการเหยียดเพศน้อยลง ทำให้สังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ ด้าน ไม่เฉพาะแต่ในที่ทำงาน แม้แต่กระทั่งนักการเมืองก็ต้องระมัดระวังและเปลี่ยนท่าทีของตนเองในการนำเสนอกฎหมายที่มีนัยต่อการเหยียดเพศ

ภาพ RBG จาก www.wavy.com

RGB ทำงานในฐานะทนายความภายใต้โครงการ ACLU จนกระทั่งประธานาธิบดี Jimmy Carter ได้แต่งตั้ง RGB ให้เป็นผู้พิพากษาในปี พ.ศ. 2523 โดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาในศาล U.S. Court of Appeals for the District of Columbia Circuit และต่อมาประธานาธิบดี William Jefferson Clinton ก็ได้ตั้งให้ RGB เป็น Associate Justice of the Supreame Court ในปี พ.ศ. 2536 เนื่องจาก Clinton ไม่ต้องการให้ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาถูกครอบงำโดยผู้พิพากษาฝั่งอนุรักษ์นิยม (Conservative)

ด้วยเหตุที่ RGB เป็นผู้หญิงและเป็นชาวยิวนั้นยิ่งส่งเสริมภาพของเธอในฐานะผู้พิพากษาฝั่งเสรีนิยม (Liberalism) ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อได้รับตำแหน่งในศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา RGB ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงแบบของชุดครุยผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงแนวคิดที่เธอได้แสดงออกผ่านคำพิพากษาในฐานะเจ้าของสำนวน

การเสียชีวิตของ RBG นี้จึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่าใจหายและสลดหดหู่ใจมากในหมู่เสรีนิมชาวอเมริกัน และเป็นการสูญเสียบุคลากรทางกฎหมายคนสำคัญของโลกคนหนึ่ง

ภาพประชาชาชนชาวอเมริกันมาร่วมแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของ RBG ที่มา: POLITICO

ในทางการเมืองของสหรัฐอเมริกานั้นเท่ากับว่าฝ่ายเสรีนิยมในศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาได้เสียบุคลากรสำคัญไปคนหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกานี้เป็นตำแหน่งตลอดชีพ และไม่มีวาระ (เว้นแต่จะลาออกเอง) โดย RGB นั้นเป็นหนึ่งในผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมที่มีอยู่เพียง 4 คน ท่ามกลางหมู่ผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษ์นิยม

บทบาทของผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกานั้นมีความสำคัญมาก เพราะผู้พิพากษาศาลสูงสุดทั้ง 9 คนนั้นมีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ต่างๆ เช่น การรับรองสิทธิของประชาชนในเรื่องต่างๆ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีจำนวนผู้พิพากษาเป็นฝ่ายข้างน้อยของจำนวนทั้งหมด แต่ด้วยความที่มีผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางคน เช่น Anthony M. Kennedy เป็นต้น ที่พยายามวางตัวเป็นกลางและรับบท Swing Voter ในคดีสำคัญๆ หลายคดี ทำให้เกิดความสมดุลขึ้นมา และแม้ในเวลาต่อมา Kennedy จะได้ลาออกจากตำแหน่งก็ตาม แต่ก็ยังมี John G. Roberts, Jr. ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนั้นพยายามวางตัวเป็นกลาง และรับบทบาทนี้ต่อมาก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าสถานะของฝ่ายเสรีนิยมในศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกานั้นเปราะบางมาก ทำให้ RBG จำเป็นต้องระมัดระวังสุขภาพและพยายามปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่มาแทน Donald J. Trump ซึ่งเป็นประธานาธิบดีฝ่ายอนุรักษ์นิยม

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคงจะหนีไม่พ้นสถานะของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เปราะบางในสังคมอเมริกาเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดเหตุการณ์ตุลาการภิวัฒน์ (Judicial Activism) ขึ้นมา

ชีวประวัติของพลเมืองไทย: กำเนิด พัฒนาการและอุปสรรคกับการพิทักษ์ประชาธิปไตย (2475 – ปัจจุบัน)
ตัดวงจรรัฐประหาร