ความอีหลักอีเหลื่อของระบบเศรษฐกิจภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย

ชื่อบทความ: ความอีหลักอีเหลื่อของระบบเศรษฐกิจภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย

เผยแพร่ใน: หนังสือประมวลบทความในการประชุมวิชาการนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 3 หัวข้อ “ทบทวน / ถกเถียง / ท้าทาย นิติศาสตร์ในห้วงยามของความเปลี่ยนแปลง” 2566

บทคัดย่อ

รัฐธรรมนูญเป็นเอกสารสำคัญทั้งในทางการเมือง ทางกฎหมาย และทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ในแง่หนึ่งรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นตราสารทางการเมืองที่กำหนดรูปของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐและความสัมพันธ์ทางสิทธิหน้าที่ระหว่างรัฐกับประชาชน ในอีกแง่หนึ่งรัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่เป็นสถาบันกำหนดกติกาสังคม โดยไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงสถาบันธรรมดา  ทว่า รัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นอภิมหาสถาบันที่กำหนดสถาบันอื่นๆ และเป็นบรรทัดฐานในการตีความและกำหนดกรอบของสถาบันอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญมีส่วนในการกำหนดกติกาทางเศรษฐกิจภายในของรัฐผ่านอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

ในอดีตรัฐธรรมนูญของประเทศไทยจะตราบทบัญญัติที่กำหนดเจตนารมณ์ที่สะท้อนอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐ โดยกำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมและเป็นธรรมโดยกลไกตลาดซึ่งสะท้อนนัยของอุดมการณ์เศรษฐกิจแบบเสรีนิยม  ทว่า ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้มีการเปลี่ยนอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐใหม่ โดยเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปัญหาตามมาคือหลักการเศรษฐกิจพอเพียงนั้นขาดความชัดเจนในเชิงความหมายและรายละเอียด รวมถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่อาจระบุได้ว่า รัฐควรจะมีการดำเนินการทางเศรษฐกิจไปในทิศทางใด สภาพดังกล่าวทำให้การดำเนินนโยบายของรัฐในทางเศรษฐกิจขาดทิศทางที่ชัดเจนว่ารัฐจะดำเนินนโยบายไปในทิศทางใด

บทความนี้มุ่งศึกษาบทบัญญัติเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมุมมองทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์สถาบัน เพื่ออธิบายปัญหาความไม่ชัดเจนดังกล่าวของรัฐธรรมนูญจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างไร

คณะราษฎรกับภารกิจเพื่อสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมในสังคมไทย
ปิดช่องโหว่วินัยการคลังให้เลือกตั้งอย่างเป็นธรรม