วิทยานิพนธ์ เรื่อง สภาพบังคับของกฎหมายวินัยทางการคลังของไทย

เรื่อง สภาพบังคับของกฎหมายวินัยทางการคลังของไทย (The Legal Enforcement of Fiscal Responsibility Law in Thailand)

บทคัดย่อ

ในทางเศรษฐศาสตร์และทางการเมืองจะอธิบายว่า “วินัยทางการคลัง” (fiscal discipline) คือ พฤติกรรมของรัฐบาลที่มีการดำเนินนโยบายทางการคลังโดยรักษาดุลยภาพระหว่างรายได้และรายจ่าย และไม่ก่อหนี้สาธารณะโดยไม่จำเป็นเกินความสามารถ นัยดังกล่าวสะท้อนภาพของวินัยทางการคลังในอดีต  อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันขอบเขตของวินัยทางการคลังได้ขยายออกไปสู่การพิจารณาภาพของการใช้จ่ายงบประมาณระยะยาว และการใช้กลไกต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลังตามวัฏจักรเศรษฐกิจ  ดังนั้น “วินัยทางการคลัง” ในปัจจุบันเป็นหลักการกำหนดแนวทางการบริหารการคลัง เพื่อรักษาดุลยภาพระหว่างรายได้และรายจ่ายของรัฐบาล และควบคุมการก่อหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับขีดความสามารถของรัฐบาล โดยไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายการคลังต่าง ๆ โดยการกำหนดกรอบวินัยทางการคลังสามารถทำได้ในหลายลักษณะ ซึ่งวิธีการหนึ่งก็คือ การใช้กฎหมายวินัยทางการคลัง (fiscal discipline law) หรือกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางการคลัง (fiscal responsibility law) ซึ่งเป็นกลไกในเชิงสถาบันที่กำหนดกรอบกฎหมายเกี่ยวกับข้อบังคับ กระบวนการ หรือข้อตกลงระหว่างสถาบันที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการคลังและงบประมาณ เพื่อยกระดับผลการดำเนินนโยบายทางการคลัง ความโปร่งใสทางการคลัง และความรับผิดชอบทางการคลังตามกลไกที่กฎหมายกำหนดไว้

ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้มีการตราพระราชบัญญัติวินัยทางการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ขึ้นเป็นกฎหมายวินัยทางการคลังของประเทศไทย โดยเป็นการประมวลกรอบวินัยทางการคลังทั่วไปมาไว้ภายใต้กฎหมายฉบับเดียว อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการกำหนดสภาพบังคับของกฎหมายวินัยทางการคลังเอาไว้โดยการนำกลไกการตรวจเงินแผ่นดินและการลงโทษทางปกครองมาใช้กับการกระทำที่ฝ่าฝืนวินัยทางการคลังดังปรากฏตามมาตรา 80 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งนำมาสู่ปัญหาและข้อจำกัด 2 ประการ ได้แก่ (1) ปัญหาความขัดแย้งทางด้านมโนทัศน์ระหว่างวินัยทางการคลังและวินัยทางงบประมาณและการคลัง และ (2) ปัญหาการตรากฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับมโนทัศน์ของวินัยทางงบประมาณและการคลัง

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ใช้วิธีการศึกษาจากเอกสาร ตำรา หนังสือ วิทยานิพนธ์ และบทความทางวิชาการต่าง ๆ เพื่อทำความเข้ามโนทัศน์ของวินัยทางการคลัง  นอกจากนี้ ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายวินัยทางการคลังของประเทศ เปรียบเทียบกับบทบัญญัติของต่างประเทศที่มีการตรากฎหมายวินัยทางการคลังขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และบราซิล เพื่อนำผลการศึกษามาวิเคราะห์หาลักษณะร่วมกันของหลักการของกฎหมายวินัยทางการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับสภาพบังคับของกฎหมายวินัยทางการคลังว่า ควรจะมีสภาพบังคับที่เหมาะสมอย่างไร พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสภาพบังคับใช้ของกฎหมายวินัยทางการคลังของประเทศไทย

คำสำคัญ: วินัยทางการคลัง, กฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ, นโยบายการคลัง

วุฒิสภา (สูงวัย) ในไทยกับบทบาทของสภาสูงในโลก : มองบทบาทวุฒิสภาไทยเปรียบเทียบต่างประเทศ
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในธุรกิจแพลตฟอร์ม