ป้ายกำกับ: กฎหมายวินัยทางการคลัง

วิทยานิพนธ์ เรื่อง สภาพบังคับของกฎหมายวินัยทางการคลังของไทย

ในทางเศรษฐศาสตร์และทางการเมืองจะอธิบายว่า “วินัยทางการคลัง” (fiscal discipline) คือ พฤติกรรมของรัฐบาลที่มีการดำเนินนโยบายทางการคลังโดยรักษาดุลยภาพระหว่างรายได้และรายจ่าย และไม่ก่อหนี้สาธารณะโดยไม่จำเป็นเกินความสามารถ นัยดังกล่าวสะท้อนภาพของวินัยทางการคลังในอดีต  อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันขอบเขตของวินัยทางการคลังได้ขยายออกไปสู่การพิจารณาภาพของการใช้จ่ายงบประมาณระยะยาว และการใช้กลไกต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลังตามวัฏจักรเศรษฐกิจ  ดังนั้น “วินัยทางการคลัง” ในปัจจุบันเป็นหลักการกำหนดแนวทางการบริหารการคลัง เพื่อรักษาดุลยภาพระหว่างรายได้และรายจ่ายของรัฐบาล และควบคุมการก่อหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับขีดความสามารถของรัฐบาล โดยไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายการคลังต่าง ๆ โดยการกำหนดกรอบวินัยทางการคลังสามารถทำได้ในหลายลักษณะ ซึ่งวิธีการหนึ่งก็คือ การใช้กฎหมายวินัยทางการคลัง (fiscal discipline law) หรือกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางการคลัง (fiscal responsibility law) ซึ่งเป็นกลไกในเชิงสถาบันที่กำหนดกรอบกฎหมายเกี่ยวกับข้อบังคับ กระบวนการ หรือข้อตกลงระหว่างสถาบันที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการคลังและงบประมาณ เพื่อยกระดับผลการดำเนินนโยบายทางการคลัง ความโปร่งใสทางการคลัง และความรับผิดชอบทางการคลังตามกลไกที่กฎหมายกำหนดไว้

การศึกษาความแตกต่างด้านสภาพบังคับของวินัยทางการคลังและวินัยทางงบประมาณและการคลัง

วินัยทางการคลังและวินัยทางงบประมาณและการคลังเป็นมโนทัศน์ในทางการคลังว่าด้วยการควบคุมการดำเนินการทางการคลังของรัฐ แม้โดยถ้อยคำแล้วมโนทัศน์ทั้งสองเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกัน  ทว่า เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า มโนทัศน์ทั้งสองมีความแตกต่างกันในเชิงความหมาย วัตถุประสงค์ ขอบเขตการบังคับใช้ และสภาพบังคับทางกฎหมาย ซึ่งทำให้เป้าหมายในการนำมโนทัศน์ทั้งมาใช้แตกต่างกันโดยประเทศไทยได้รับเอามโนทัศน์ทั้งสองเรื่องมาบัญญัติไว้เป็นกฎเกณฑ์ของกฎหมายการคลัง  ทว่า ภายใต้มาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้รัฐต้องรักษาวินัยทางการคลังตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐคือ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561  นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจสั่งลงโทษทางปกครองเมื่อมีการฝ่าฝืนวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยสภาพบังคับดังกล่าวนั้นปรากฏในบทบัญญัติมาตรา 240 วรรคหนึ่ง (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และมาตรา 80 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ผลของการบัญญัติหลักการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เป็นการนำมโนทัศน์ทั้งสองเรื่องที่แตกต่างกันมากำหนดไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาว่า การกำหนดสภาพบังคับในลักษณะดังกล่าวนั้นอาจจะไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับมโนทัศน์ทั้งสองเรื่อง และนำมาซึ่งปัญหาในการบังคับใช้มโนทัศน์ทั้งสองเรื่อง

สภาพบังคับของกฎหมายวินัยทางการคลังของไทย

สไลด์การนำเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอเพื่อสอบวิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายมหาชน ในหัวข้อ “สภาพบังคับของกฎหมายวินัยทางการคลังของไทย” โดยหัวข้อนี้ต้องการนำเสนอและชี้ให้เห็นประเด็นเกี่ยวกับสภาพบังคับของกฎหมายวินัยทางการคลังของไทยหรือพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่มีปัญหา