ภาวะเงินเฟ้อกับชีวิตคนไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 บนเว็บไซต์ pridi.or.th

เศรษฐกิจของประเทศจะดีหรือไม่ อาจพิจารณาได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ปัจจัยหนึ่งที่สามารถนำมาชี้วัดได้ ก็คือ ความเพียงพอของสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีวิต หากประเทศนั้นไม่มีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตแล้ว แม้จะมีปริมาณเงินในระบบมากก็ไม่สำคัญ เพราะปริมาณเงินในระบบนั้นไม่สอดคล้องกับปริมาณสินค้าและบริการ

ในบทความนี้จะนำผู้อ่านย้อนกลับไปพิจารณาสภาพเศรษฐกิจของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง

สาเหตุของเงินเฟ้อหลังมหาสงคราม

ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพปัญหาทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่ต่างกันมาก ด้วยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนสินค้าจำเป็น และภาวะเงินเฟ้อ กล่าวเฉพาะในด้านปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ผู้เขียนได้ชี้แจงสาเหตุไว้แล้วในบทความก่อน และข้อยกมาสรุปเอาไว้ในบทความนี้ถึงสาเหตุทั้ง 2 ประการที่นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ดังนี้

ประการแรก คือ ประเทศไทยออกจากมาตรฐานปริวรรตเงินปอนด์สเตอร์ลิง (Sterling exchange standard) กล่าวคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมานั้นประเทศไทยใช้มาตรฐานปริวรรตสเตอร์ลิงโดยเอาค่าเงินบาทไปผูกไว้กับค่าเงินปอนด์ของประเทศสหราชอาณาจักร แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มต้นขึ้นประเทศไทยได้เข้าเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ต้องตัดขาดความสัมพันธ์ทางการค้าและรวมถึงการจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานปริวรรตเงินเยน (Yen exchange standard) พร้อมทั้งกำหนดค่าเงินบาทให้เท่ากับเงินเยน กล่าวคือ กำหนดให้ 100 บาท เท่ากับ 100 เยน ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นค่าเงินบาทมีมากกว่าค่าเงินเยนโดยอัตราเปรียบเทียบ 100 บาท ต่อ 155.70 เยน สภาพดังกล่าวทำค่าเงินบาทลดลงประมาณร้อยละ 36

ประการที่สอง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพิมพ์ธนบัตรเพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุล และต้องพิมพ์ธนบัตรเพื่อให้จักรวรรดิญี่ปุ่นใช้ในราชการสงครามภายในประเทศไทย

ผลจากปัจจัยทั้งสองประการนี้ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว นับตั้งแต่สงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มต้นขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาสงครามรัฐบาลจะได้พยายามด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาประการเพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่การแก้ไขดังกล่าวก็ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะสาเหตุของปัญหาบางประการไม่สามารถแก้ไขได้ในสภาวะที่สงครามยังดำเนินอยู่ต่อไป เช่น รัฐบาลไม่สามารถลดการพิมพ์ธนบัตรเพื่อให้จักรวรรดิญี่ปุ่นใช้ในราชการสงครามภายในประเทศไทยไทยได้ เป็นต้น

การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงปัญหาเงินเฟ้อก็ยังดำเนินต่อไปโดยรัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย ดังเช่นที่นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า

“…ภาวะเงินการเงินของเราเวลานี้เปรียบเสมือนคนไข้หนัก การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด…”[1]

คำกล่าวของนายควงในข้างต้นนั้นไม่ได้เกินจริงไปเสียเลย เพราะหากพิจารณาจากปริมาณเงินเฟ้อในปี พ.ศ. 2488 มีปริมาณเงินหมุนเวียนจำนวน 2,560,579,208 บาท และได้เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2489 เป็น 3,029,570,987 บาท[2] ปริมาณเงินดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อตลอดช่วงเวลาที่สงครามเดินไปนั้นกระทำได้ยากมาก

ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการหลายวิธีด้วยกันเพื่อจะลดอัตราเงินเฟ้อ โดยในช่วงปี พ.ศ. 2488 รัฐบาลได้ยกเลิกการใช้ธนบัตรใบละ 1,000 บาท โดยกำหนดให้ธนบัตรใบละ 1,000 บาทไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย[3] แต่ผู้ครอบครองธนบัตรสามารถนำธนบัตรใบละ 1,000 บาท ไปจดทะเบียนที่คลังทุกแห่งทั่วไปประเทศเพื่อขอเปลี่ยนเป็น “พันธบัตรออมทรัพย์” ที่ให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปีแทนได้[4] และพันธบัตรดังกล่าวจะไถ่ถอนไม่ได้จนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปี[5] วิธีการดังกล่าวนี้เรียกว่าเป็นการ “แช่เย็น” ธนบัตร ซึ่งทำเพื่อดึงเงินออกจากมือของประชาชน ด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้สามารถลดเงินหมุนเวียนในระบบไปได้ประมาณ 371.5 ล้านบาท[6] และทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นบางอย่างลดลง สาเหตุที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ก็เพื่อทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเก็งกำไรซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเงินเฟ้อ[7] อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวนั้นไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ผลดีไปตลอด เพราะในท้ายที่สุดปัญหาสำคัญก็ยังคงดำรงอยู่คือการพิมพ์ธนบัตรเพื่อให้ทหารญี่ปุ่นใช้ในช่วงสงคราม

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2489 ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลเข้ามากำกับการประกอบกิจการธนาคารเป็นครั้งแรก โดยผลของพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้ธนาคารทุกธนาคารจะต้องตั้งเงินสดสำรองไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเงินฝาก และอย่างน้อยร้อยละ 10 จะต้องนำไปฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย[8] โดยอัตราส่วนเงินสดสำรองนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องตั้งเงินสดสำรองนี้เป็นวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้อันจะทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินออกสู่ระบบมากจนเกินไป[9]

อีกวิธีการหนึ่งที่รัฐบาลเคยคิดจะนำมาใช้เพื่อลดปริมาณเงินในระบบ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำมาใช้ คือ การแบ่งขายทองคำจากทุนสำรองเงินตราภายในประเทศ เพื่อหวังไถ่ถอนธนบัตรจากการหมุนเวียนอย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าว รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเห็นในส่วนของวิธีการที่แตกต่างกันในแง่รูปแบบของการไถ่ถอน จึงเป็นเหตุให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย[10]

ความท้าทายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อหลังสงคราม

ในเวลาต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย โดยรัฐบาลมีความท้าทายอยู่ 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก รัฐบาลต้องพยายามจับจ่ายใช้สอยเงินในการฟื้นฟูประเทศอย่างไรที่จะไม่ทำให้ภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ทำได้ยากมาก ด้วยเหตุที่สภาวะหลังสงครามประชาชนได้รับความบอบช้ำทางเศรษฐกิจรัฐบาลจึงเก็บภาษีได้น้อย ทำให้การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลทำได้ยาก แต่รัฐบาลก็ต้องบูรณะประเทศทำให้รัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล และทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน

ประการที่สอง ปัญหาข้าวที่เกิดขึ้นตามความตกลงสัญญาสมบูรณ์แบบ (รายละเอียดได้กล่าวไว้ในบทความก่อน) เพราะในช่วงแรกนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีตามความตกลงสัญญาสมบูรณ์แบบในการซื้อข้าวจากประชาชนเพื่อส่งมอบให้กับสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อในเวลาต่อมาได้เจราจาแก้ไขปัญหาข้าวตามความตกลงสัญญาสมบูรณ์แบบแล้ว ประจวบกับสินค้าส่งออกของไทยมีราคาดีขึ้น ประกอบกับสินค้าส่งออกของไทยมีราคาดีขึ้น ทำให้รัฐบาลได้เงินตราต่างประเทศเข้ามามากขึ้นในช่วง พ.ศ. 2491-2494[11] และด้วยการที่รัฐบาลสามารถควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ระบบแลกเปลี่ยนเงินหลายอัตรา[12] ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสะสมเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในตอนนี้จึงเป็นการได้เปรียบดุลการค้า

ในช่วงหลัง พ.ศ. 2491 เป็นต้นมาถือได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น ดัชนีค่าครองชีพของประชาชนมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อยในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2491-2494 ดัชนีค่าครองชีพลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับอำนาจซื้อของเงินบาท แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อได้คลี่คลายลงบ้าง ราคาสินค้าและบริการปรับตัวลดลง (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: แสดงอำนาจการซื้อของเงินบาทและดัชนีค่าครองชีพ[13]

พ.ศ.อำนาจซื้อของเงินบาทดัชนีค่าครองชีพ
2491100.0100.0
2492104.196.0
2493100.999.2
249490.8116.1
249581.6122.6
249674.1134.9
249773.9135.3
249870.7141.5

ที่มา:   เงิน ศรีสุรักษ์, แรงงานในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ : คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2504), น. 122; อ้างอิงจาก สมศักดิ์ นิลนพคุณ, “ปัญหาเศรษฐกิจของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการแก้ไขของรัฐบาลระหว่าง พ.ศ. 2488 – 2489,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557), น. 178.

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาประสบวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2495 เพราะสินค้าออกที่สำคัญของไทยกลับมามีราคาต่ำลงอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวและยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ เป็นผลให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบดุลการค้าอีกครั้งหนึ่ง ในขณะเดียวกันรัฐบาลยังต้องบูรณะฟื้นฟูประเทศ ทำให้จำเป็นต้องจัดงบประมาณแบบขาดดุลอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลแก้ปัญหานี้โดยการขอกู้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปริมาณหมุนเวียนเงินมากขึ้นอีกครั้งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออีกครั้งหนึ่ง

ในท้ายที่สุดอาจกล่าวได้ว่า การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยนั้นเป็นปัญหายืดเยื้อและใช้ระยะเวลาแก้ไขอย่างยาวนาน รัฐบาลต้องทุ่มเทความตั้งใจเป็นอย่างมากเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ในครั้งนั้น และเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นได้ไม่นาน ประเทศไทยก็ต้องกลับมาประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492-2498 งบประมาณรายจ่ายของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทางด้านการคลังประเทศไทยมีแนวโน้มจะจัดนโยบายการคลังแบบขาดดุลโดยตลอด ในขณะที่อัตราการขาดดุลทางงบประมาณก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันพร้อม ๆ กับปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบที่เพิ่มขึ้น (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2: แสดงจำนวนดุลงบประมาณแผ่นดินและปริมาณเงิน (ล้านบาท)

พ.ศ.งบประมาณรายได้งบประมาณ
รายจ่าย
+ งบเกินดุล
– งบขาดดุล
เงินกู้จาก
ธนาคารชาติ
จำนวนเงินหมุนเวียน
2490966.01,217.2– 221.211.82,044.8
24911,962.21,685.0+ 7.2[14]36.62,206.6
24921,929.82,237.3– 307.5330.92,363.2
24932,143.32,591.7– 447.9333.83,042.8
24942,523.33,418.5– 888.2910.73,756.5
24953,346.94,433.9– 1,087.01,844.33.676.3
24963,940.95,240.6– 1,299.71,478.94,016.9
24974,265.95,493.8– 1,227.91,478.94,548.3
24984,383.05,025.5– 645.3552.35,178.7

ที่มา:   ธนาคารแห่งประเทศไทย, ที่ระลึกวันครบรอบปีที่ยี่สิบ 10 ธันวาคม 2505, (กรุงเทพฯ: ศิวพรการพิมพ์, 2505), น. 56; อ้างอิงจาก สมศักดิ์ นิลนพคุณ, “ปัญหาเศรษฐกิจของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการแก้ไขของรัฐบาลระหว่าง พ.ศ. 2488 – 2489,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557), น. 180.


เชิงอรรถ

[1]    สมศักดิ์ นิลนพคุณ, “ปัญหาเศรษฐกิจของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการแก้ไขของรัฐบาลระหว่าง พ.ศ. 2488 – 2489,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557), น. 126.

[2]    เพิ่งอ้าง, น. 176.

[3]    พระราชกำหนดพันธบัตรออมทรัพย์ในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2488, มาตรา 4.

[4]    พระราชกำหนดพันธบัตรออมทรัพย์ในภาวะคับขัน พุทธศักราช 2488, มาตรา 5.

[5]    ธนาคารแห่งประเทศไทย, “เมื่อ ‘บาท’ เกือบเป็น ‘เหรียญ’,” ธนาคารแห่งประเทศไทย, (2557) สืบค้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563, จาก https://www.bot.or.th/Thai/phrasiam/Documents/Phrasiam_3_2557/No.17.pdf, น. 42-43.

[6]    เพิ่งอ้าง.

[7]    เพิ่งอ้าง.

[8]    พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พุทธศักราช 2488, มาตรา 10.

[9]    ธารทอง ทองสวัสดิ์, “เศรษฐกิจไทยในช่วง พ.ศ. 2488 – 2504,” ใน เศรษฐกิจไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2553), น. 290.

[10] ธนาคารแห่งประเทศไทย, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5, น. 43.

[11] สมศักดิ์ นิลนพคุณ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น. 179.

[12] ระบบการแลกเปลี่ยนหลายอัตรา เกิดขึ้นมาจากความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศเพื่อควบคุมปริมาณเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย จึงกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราขึ้นมาเป็นอัตราเดียวในตอนแรก แต่การกำหนดในลักษณะดังกล่าวล้มเหลวเนื่องจากอัตราดังกล่าวต่ำกว่าอัตราในตลาดมืด ทำให้ในเวลาต่อมามีการกำหนดอัตรา 2 อัตราคือ อัตราทางการ และอัตราในท้องตลาด (ยอมรับอัตราในตลาดมืด).

[13] ดัชนีเป็นฐานดัชนี 100.

[14] ในปี พ.ศ. 2491 ประเทศไทยมีงบประมาณเกินดุล เนื่องจากรัฐบาลสามารถเจรจากับอังกฤษให้สามารถขายข้าวตามราคาตลาดโลกได้ ทำให้รัฐบาลมีรายได้เกินดุล.

ความตกลงสมบูรณ์แบบและปัญหาข้าว
ชีวประวัติของพลเมืองไทย: กำเนิด พัฒนาการและอุปสรรคกับการพิทักษ์ประชาธิปไตย (2475 – ปัจจุบัน)