อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ​ : ชีวิตการงานด้วยความซื่อสัตย์ในหน้าที่

ศาลรัฐธรรมนูญพึงธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมุ่งพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่  ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันซึ่งประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อถือ

นี่คือวิสัยทัศน์ที่ ศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ เคยให้ไว้เมื่อดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นภาพสะท้อนตัวตนของ ดร.อิสสระ ผู้มีความมุ่งมั่นและซื่อสัตย์ในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นที่ประจักษ์ได้เป็นอย่างดี

เพื่อรำลึกถึง ดร.อิสสระ ซึ่งเพิ่งจากโลกนี้ไป เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564  ท่ามกลางความรักและระลึกถึงในความทรงจำจากคนที่เคยรู้จัก  บทความนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อระลึกถึงชีวิตและผลงานของท่าน

กำเนิดและการศึกษา

ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2475 โดยเป็นบุตรของพระนิติทัณฑ์ประภาศ (สนอง สุจริต) กับนางชวนชื่น นิติทัณฑ์ประภาศ (สกุลเดิม พนมยงค์) ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาของนายปรีดี พนมยงค์  ดังนั้น ดร.อิสสระ จึงเป็นหลานลุงของนายปรีดี

นอกจากพระนิติทัณฑ์ประภาศ ผู้บิดา ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของบุตรชายแล้ว  นายปรีดีนับเป็นอีกบุคคลที่มีอิทธิพลต่อ ดร.อิสสระ เป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากการเลือกศึกษาต่อในสาขานิติศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และเมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ดร.อิสสระได้เจริญรอยตามนายปรีดี  เข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ในสาขากฎหมายมหาชนต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส ในมหาวิทยาลัยกอง (Université de Caen) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกันกับที่นายปรีดีได้ศึกษาจบมาในชั้นปริญญาตรี 

หลังจากนั้น ดร.อิสสระสำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางกฎหมายมหาชน (Diplome d’Etudes Superieures de Droit Public) และในระดับนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Docteur en Droit) จากมหาวิทยาลัยกอง ประเทศฝรั่งเศส

นักกฎหมายมหาชนผู้รอบรู้

นอกจากบทบาทในการเป็นข้าราชการแล้ว ดร.อิสสระยังมีบทบาทสำคัญในฐานะนักกฎหมายมหาชนแนวหน้าของประเทศไทย  ท่านเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งสาขากฎหมายมหาชนยังเป็นสาขาวิชากฎหมายใหม่ที่เพิ่งเติบโตขึ้นในประเทศไทยได้ไม่นาน พร้อม ๆ กับการก่อตั้งของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2477  ในเวลาต่อมา ท่านได้ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกสมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2530–2534

คุณูปการสำคัญของ ดร.อิสสระ ต่อวงการกฎหมายมหาชนของประเทศไทย คือ ท่านเป็นผู้บุกเบิกการเขียนตำรากฎหมายปกครองเปรียบเทียบของประเทศไทย โดยเปรียบเทียบกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสกับอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นเรื่องที่ทันสมัยมากในยุคนั้น เพราะนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าประเทศอังกฤษนั้นไม่ได้มีกฎหมายมหาชนแบบเดียวกับประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป

ความเป็นผู้รู้ทางกฎหมายมหาชนของ ดร.อิสสระ ไม่ใช่แต่เพียงจากการศึกษาตำราจำนวนมากเท่านั้น แต่มาจากประสบการณ์ที่ท่านสั่งสมมาจากการทำงานในตำแหน่งราชการอีกด้วย โดยจะเห็นได้จากในบทความหนึ่งที่ชื่อว่า “การใช้ถ้อยคำ ‘แปรญัตติ’ ที่ไม่ถูกต้อง” ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ มติชน รายวัน ซึ่งในบทความนี้ท่านได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการแปรญัตติกับการชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎรหรือในกรรมาธิการว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องเล็กน้อย  ทว่า สิ่งเล็กน้อยนี้สะท้อนความละเอียดรอบคอบ และความใส่ใจต่อการใช้ถ้อยคำทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักกฎหมายสมัยนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญอีกแล้ว แต่กลับนิยมเล่นแร่แปรถ้อยคำไปมาเพียงเพื่อบริการผู้มีอำนาจทางการเมือง

นอกจากการเป็นผู้ศึกษากฎหมายมหาชนแล้ว บางโอกาส ดร.อิสสระยังเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางกฎหมายมหาชนของท่าน จนได้รับเกียรติยศสูงสุดทางการศึกษา คือ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

นักกฎหมายการคลังผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณ

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสกลับมาเป็นประเทศไทย ดร.อิสสระ ได้เข้ารับราชการและเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานมาโดยตลอด จนได้ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งหน้าที่การงานที่มีความสำคัญของประเทศและต้องอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถสูง

ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการงบประมาณของท่านนั้น ปรากฏอยู่ในความเห็นตามบทความหนังสือพิมพ์หรือบทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณที่ท่านได้ชี้แจงถึงความเข้าใจคลาดเคลื่อนอันเกิดมาจากความสลับซับซ้อนของเทคนิคทางงบประมาณ ซึ่งบ่อยครั้งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนำตัวเลขเงินคงคลังมาแถลงให้สื่อมวลชนทราบ หรือนำมากล่าวอ้างในโอกาสต่าง ๆ ในทำนองชี้ให้เห็นว่า การคลังของประเทศมีเสถียรภาพดี แต่มิได้อธิบายให้ประชาชนได้รู้ว่า “เงินคงคลัง” นั้นคืออะไร ทำให้คนทั่วไปจึงต้องเดาเอาเองว่าเงินคงคลัง คือ เงินที่รัฐบาลได้สะสมไว้เป็นเงินสำรองเพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

ในบทความชื่อว่า “เงินคงคลัง” นั้น ดร.อิสสระได้อธิบายถึงความเป็นมาเป็นไปของคำว่า เงินคงคลังมีที่มาอย่างไร ทั้งในแง่ของการพิจารณาความหลายตามหลักภาษา และความหมายในทางการคลัง วางอยู่บนข้อถกเถียงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับความหมายของเงินคงคลังที่ใช้ในทางการคลังของประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดความชัดเจนว่า “เงินคงคลัง” เป็นเงินที่รัฐบาลได้รับไว้โดยมีข้อผูกพันที่จะต้องจ่าย ข้อผูกพันดังกล่าวมีผลให้เงินคงคลังผันแปรได้  ดังนั้น หากจะพิจารณาฐานะเงินคงคลังของประเทศนั้น จะพิจารณาตัวเลขเงินคงคลังอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องพิจารณาถึงข้อผูกพันในการจ่ายเงินของรัฐบาลด้วย

ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านงบประมาณที่หาจับตัวได้ยากนี้เอง ทำให้ท่านได้มีโอกาสเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง เพื่อคอยย้ำเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงงบประมาณของประเทศ ดังเช่นในบทความที่ชื่อว่า “วัวหายล้อมคอก – บทเรียนจากการอภิปรายงบประมาณ ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปรับลดงบประมาณรายจ่ายโดยกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายของโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการในบางจังหวัดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อหวังสร้างความนิยมในกลุ่มฐานเสียงของตนเอง ซึ่ง ศ.ดร.อิสสระ ได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ ศ.ดร.อิสสระ ได้เสนอแนะให้มีการสร้างกลไกทั้งในวิธีการทางนิติบัญญัติ และในวิธีการในทางบริหาร ซึ่งถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมาก เพราะปัญหาดังกล่าวในปัจจุบันนี้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้กำหนดห้ามการกระทำดังกล่าวเอาไว้ชัดเจน

ศาลรัฐธรรมนูญกับการสร้างความเชื่อมั่น

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันการเมืองและสถาบันทางกฎหมายใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมาในประเทศไทย อันเป็นผลมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ดร.อิสสระ ก็ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดแรกในปี พ.ศ. 2541 และได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2545 บทบาทของท่านในช่วงแรกจึงมีความสำคัญในฐานะผู้วางรากฐานความเชื่อมั่นของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ดร.อิสสระ เป็นผู้หนึ่งที่ตระหนักดีถึงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยปรากฏในคำวินิจฉัยส่วนตนในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 42 – 43 / 2542 ซึ่งระบุในเชิงว่า “เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน จำเลยและประชาชนทั่วไปต่างก็เป็นบุคคลตามกฎหมาย โจทก์หรือสถาบันการเงินต่างๆ ก็เป็นบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่อาจมีสิทธิเหนือกว่าประชาชนหรือบุคคลโดยธรรมชาติ  ดังนั้น กฎหมายใดก็ดี ประกาศโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายใดก็ดี ที่ทำให้บุคคลได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายไม่เท่าเทียมกันแล้วย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ” ซึ่งท่านแสดงให้เห็นในคำวินิจฉัยส่วนตนในคดีแล้วว่าความเสมอภาคของบุคคลเป็นคุณค่าสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะต้องพิทักษ์รักษาไว้

นอกจากนี้ เมื่อได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ดังได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ความเป็นอิสระและความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง และตุลาการทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตด้วยเกียรติยศในวิชาชีพนักกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและผู้เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการควรยึดถือไว้ โดยเฉพาะท่ามกลางยุคทมิฬที่มาร ครองเมืองและนักกฎหมายส่วนใหญ่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับอำนาจ และรับใช้ผู้มีอิทธิพลโดยบิดเบือนหลักการทางกฎหมายเช่นปัจจุบันนี้

ศ.ดร.อิสสระ ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่นและซื่อสัตย์ในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นที่ประจักษ์นั้นได้เป็นวิถีทางสำหรับคนรุ่นถัดไปได้เลือกเดินตาม บนวิถีทางของการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระลึกถึงหลักการและหน้าที่ของตน


อ้างอิง

  • สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. “ความเคลื่อนไหวในแวดวงศาลรัฐธรรมนูญ.” ปีที่ 4 เล่มที่ 10. วารสารศาลรัฐธรรมนูญ. (มกราคม – เมษายน 2545) : 3 – 7.
  • อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ. “การใช้ถ้อยคำ “แปรญัตติ” ที่ไม่ถูกต้อง.” มติชน. (23 มีนาคม 2536) : 9.
  • อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ. “เงินคงคลัง.” ปีที่ 41 ฉบับที่ 10. รัฐสภาสาร. (ตุลาคม 2536) : 60 – 76.
  • อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ. “วัวหายล้อมคอก บทเรียนจากการอภิปรายรายงบประมาณ.” มติชน. (6 มีนาคม 2536) : 8.
  • อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ. “อันว่าเงินคงคลังนั้นเป็นฉันใด.” ปีที่ 2 ฉบับที่ 5. วารสารการงบประมาณ. (เมษายน – มิถุนายน 2548) : 7 – 18.
  • คำวินิจัยฉัยส่วนตนของ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 42 – 43 / 2542.
สไลด์การนำเสนอผลการศึกษาการทบทวนการขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมและที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
เสวนาชุดคำสั่งมีปัญหาประชาชนจะดีบักอย่างไร