คณะราษฎรกับภารกิจเพื่อสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมในสังคมไทย

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 บนเว็บไซต์ pridi.or.th

ภาษีเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศมาตั้งแต่อดีตและมีส่วนสำคัญต่อการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ของหลายๆ ประเทศ ในบริบทของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ภาษีถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐใช้สำหรับการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในฐานะแหล่งรายได้ของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งของประเทศในเวลานั้น

อย่างไรก็ดี การคิดคำนวณภาษีในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น มีปัญหาในเรื่องของความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี กล่าวคือ แนวคิดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีของรัฐในเวลานั้น คือการแสวงหารายได้จากประชาชนที่ทำกินภายในประเทศเสมือนเป็นการแสวงหาค่าคุ้มครองหรือค่าต๋งมากกว่า รวมถึงภาษีบางประการมีลักษณะเป็นการเรียกเก็บจากสถานะของบุคคล โดยไม่ได้พิจารณากำลังความสามารถของประชาชนว่าจะสามารถจ่ายภาษีเช่นนั้นได้หรือไม่

สภาพดังกล่าวทำให้ภายหลังเมื่อมีการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรจึงได้มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการปฏิรูประบบภาษีของประเทศใหม่ โดยเน้นการสร้างความยุติธรรมในการจัดเก็บภาษีโดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการจ่ายภาษีของบุคคล

เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมในอดีต จะพบว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน แต่ในบทความนี้มุ่งเน้นถึงสาเหตุเฉพาะประการหนึ่งคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศอังกฤษและประเทศสยาม หรือ สนธิสัญญาเบาว์ริงที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจของสังคมสยาม และการกำหนดประเภทของภาษี รวมถึงผลกระทบของภาษีที่เกิดขึ้นกับสังคม

ผลกระทบต่อสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บภาษีในอดีต

สนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นสนธิสัญญาที่ประเทศไทยหรือสยามในเวลานั้น ลงนามกับอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) โดยสาระสำคัญประการหนึ่งของความตกลงฉบับนี้ คือประเด็นเรื่องภาษีและการค้าพาณิชย์ ซึ่งกระทบต่อความมั่งคั่งของสยาม

ในความตกลงฉบับนี้กำหนดว่า สยามจะต้องยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือและกำหนดอัตราภาษีขาเข้าและขาออกชัดเจน โดยตามสนธิสัญญากำหนดให้อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกชนิดกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ยกเว้นฝิ่นที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่จะขายได้เฉพาะกับเจ้าภาษีนายอากรฝิ่นเท่านั้น และสินค้าส่งออกให้มีการเก็บภาษีชั้นเดียว โดยเลือกว่าจะเก็บภาษีชั้นใน (จังกอบ ภาษีป่า ภาษีปากเรือ) หรือภาษีส่งออก[1]

นอกจากนี้ สนธิสัญญาฉบับนี้ยังได้กำหนดให้ พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้สามารถทำการค้าโดยตรงได้กับเอกชนสยามโดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งขัดขวาง และรัฐบาลสยามจะต้องไม่เข้าแทรกแซงกิจกรรมการค้าดังกล่าว[2] ผลของสนธิสัญญาดังกล่าวจึงกลายมาเป็นการทลายการผูกขาดของพระคลังสินค้าที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยอยุธยา[3] สิ่งนี้กลายเป็นผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลสยาม

ในแง่รายได้จากภาษีของรัฐบาลสยาม สนธิสัญญาเบาว์ริงมีผลต่อข้อจำกัดในการขยายตัวของรายได้ของรัฐบาลสยามในเวลานั้น จนกระทั่งมีการแก้ไขสนธิสัญญาบางส่วนในปี ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) และทำให้รัฐบาลสยามไม่สามารถแสวงหารายได้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีจากการค้าพาณิชย์ที่ค่อนข้างจะจำกัด[4]

เมื่อย้อนพิจารณาโครงสร้างภาษีในฐานะแหล่งรายได้ของรัฐบาลในช่วงปี ค.ศ. 1855 – 1925 โครงสร้างภาษีของประเทศสยามมีรายได้หลักมาจากภาษีสรรพสามิตและค่าธรรมเนียมการขนส่งคิดเป็นร้อยละ 25, การผูกขาดฝิ่นร้อยละ 18, การรถไฟร้อยละ 17, ภาษีที่ดินร้อยละ 12, ภาษีรายหัวร้อยละ 10 และภาษีป่าไม้และเหมืองแร่ร้อยละ 8 ของงบประมาณ[5]

นอกจากนี้ ก่อนหน้าการจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ช่วงประมาณ ค.ศ. 1874 หรือ พ.ศ. 2417) การจัดเก็บภาษีของประเทศไทยยังใช้ระบบเจ้าภาษีนายอากร ซึ่งทำให้การจัดเก็บภาษียังไม่มีประสิทธิภาพและจัดเก็บได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่มีประโยชน์[6]

ข้อจำกัดของภาษีที่เกิดขึ้นจากภาษีการค้าพาณิชย์ต่างๆ ทำให้รัฐบาลสยามต้องมุ่งหาแหล่งเงินได้ในลักษณะอื่นๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้จากการค้าพาณิชย์ของรัฐโดยเน้นการเก็บภาษีจากราษฎร การจัดเก็บภาษีในเวลานั้นมีลักษณะซ้ำซ้อนและมีการเก็บภาษีหลายชนิดที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน ซึ่งสร้างภาระแก่ประชาชนและเป็นต้นทุนแก่การประกอบอาชีพของประชาชน

ระบบภาษีของสังคมไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ก่อนการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลสยามในเวลานั้นได้มีการจัดเก็บภาษีทางตรงจากราษฎรหลายชนิดด้วยกัน

ตัวอย่างของภาษีในช่วงนั้น เช่น ภาษีรัชชูปการหรือเงินรัชชูปการ ซึ่งเป็นเงินช่วยราชการที่เก็บจากราษฎรที่เป็นชายฉกรรจ์ที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 60 ปี ที่ไม่ได้รับราชการเป็นทหารหรือไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย[7] เงินรัชชูปการนี้แตกต่างจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากการจัดเก็บเงินรัชชูปการไม่อาศัยฐานการจัดเก็บจากการรายได้ ทรัพย์สิน การบริโภค หรือการแสวงหาประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ แต่เก็บจากสถานะของบุคคลในฐานะเป็นราษฎรของแผ่นดินสยาม โดยเป็นการเก็บเงินทดแทนจากการส่งส่วยในอดีตของระบบไพร่[8] โดยจะเก็บเงินรัชชูปการจากราษฎรชายฉกรรจ์ปีละ 4 บาท โดยบางภูมิภาคและบางช่วงเวลาอาจจะเก็บมากถึง 6 บาท[9]

ในแง่ของความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เงินรัชชูปการมีข้อยกเว้นในการจัดเก็บ ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษีประเภทนี้อย่างมาก เนื่องจากเงินรัชชูปการมีข้อยกเว้นในการจัดเก็บให้กับบุคคลที่มีสถานะสูงทางสังคม อาทิ ราชนิกุล ข้าราชการพลเรือนและข้าราชทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสารวัตรกำนัน พระภิกษุสงฆ์ สามเณร นักบวช และปะขาว นักเรียนที่สอบได้ประโยค 1 และประโยค 2 นอกจากนี้ เงินรัชชูปการมีการยกเว้นการจัดเก็บให้กับคนพิการ ชาวจีนที่เสียเงินผูกปี้แล้ว และผู้ที่เริ่มอพยพเข้ามาตั้งภูมิลำเนาเป็นปีแรก[10]

จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้เสียภาษีหลักตามกฎหมายน่าจะเป็นราษฎรทั่วไปที่ไม่ได้รับราชการและมีสัญชาติไทยในเวลานั้นส่วนใหญ่เป็นชาวนา และไม่ได้ร่ำรวยพอที่จะบริจาคเงินช่วยราชการที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินรัชชูปการ[11] หากราษฎรคนใดไม่มีเงินจะจ่ายให้กับราชการจะต้องถูกนำไปบังคับใช้แรงงานแทนการเก็บเงิน[12]

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณารายได้ของรัฐที่เก็บจากเงินรัชชูปการแล้วจะเห็นว่า เงินรัชชูปการสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลสยามจำนวนมาก โดยในช่วงปี ค.ศ. 1919 – 1925 (พ.ศ. 2462 – 2468) คิดเป็นร้อยละ 7 – 10 ของรายได้ของรัฐบาลทั้งหมดในเวลานั้น

ตารางแสดงสถิติเงินรัชชูปการเทียบเงินรายได้รวมของประเทศ พ.ศ. 2462 – 2468

พ.ศ.เงินค่าราชการ (บาท)รายได้รวม (บาท)เงินค่าราชการเทียบรายได้รวมคิดเป็นร้อยละ
24629,251,13790,682,03610.20
24638,176,49580,340,17710.17
24647,749,23479,624,9429.73
24666,930,04681,598,5888.49
24677,126,55785,182,2198.36
24687,036,26492,712,6627.85
ที่มา: สมศักดิ์ มหาทรัพย์สกุล, การเก็บเงินรัชชูปการและผลกระทบต่อสังคมไทย ระหว่าง พ.ศ. 2444 – 2482.

นอกจากเงินรัชชูปการแล้ว ภาษีอีกประเภทหนึ่งที่รัฐบาลจัดเก็บมากในเวลานั้นคือ ภาษีที่เก็บจากสวนและนา อาทิ ภาษีสมพัตสร (อากรค่าสวน) ซึ่งเป็นเงินที่รัฐเก็บจากจำนวนพื้นที่ที่ปลูกไม้ล้มลุกบางประเภทและจำนวนไม้ผลยืนต้นบางประเภท (เช่น ขนุน เงาะ กระท้อน และมะไฟ เป็นต้น) โดยจะเก็บเป็นรายปี[13] หรืออากรค่านา อากรสวน ภาษีไร่อ้อย และภาษียาสูบ

ดังจะเห็นได้ว่าระบบการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมีความซ้ำซ้อนกัน กล่าวคือ แหล่งรายได้ของกิจกรรมของประชาชนมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน แต่ถูกเรียกเก็บภาษีหลายๆ ชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อล่วงเข้ามาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง[14]

สภาพความยากลำบากของราษฎรถูกสำรวจของสยามในเวลานั้นถูกบันทึกไว้โดย คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน (Carle C. Zimmerman) ซึ่งรัฐบาลสยามจ้างให้สำรวจเศรษฐกิจในชนบทในปี พ.ศ. 2473 อธิบายว่า ระบบภาษีซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรมนั้นเป็นการซ้ำเติมให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวนาที่มีความยากลำบากจากการทำนาที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ยังต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลอีก ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวนาและคนในชนบทยากลำบาก[15]

การยกเลิกและปรับปรุงภาษีให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

ภายหลังจากการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม คณะราษฎรได้เข้ามาบริหารประเทศได้มีนโยบายที่จะปรับปรุงภาษีต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

บทบาทสำคัญในการยกเลิกและปรับปรุงภาษีให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นเป็นของ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีดำริจะยกเลิกภาษีที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ[16]

เป้าหมายสำคัญของการปรับปรุงภาษีในครั้งนี้ปรากฏตามถ้อยแถลงของ นายดิเรก ชัยนาม ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลที่แถลงว่า

“รัฐบาลได้แถลงไว้ว่าจะปรับปรุงภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคมนั้น…รัฐบาลได้ถือหลักโดยคำนึงถึงความสามารถในการเสียภาษีของราษฎรตามส่วนซึ่งราษฎรจะเสียได้ หลักในเรื่องความแน่นอน หลักความสะดวก และหลักประหยัดค่าใช้จ่าย และคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนในทางการเมืองเป็นสิ่งประกอบการพิจารณา ด้วยความรู้สึกของประชาชนนั้นมิใช่จะคำนึงถึงความรู้ของคนชั้นเดียว ได้พยายามนึกถึงความรู้สึกของคนทุกชั้น สิ่งใดที่จะคิดเก็บภาษีก็เป็นไปในทำนองซึ่งหวังว่า ผู้ซึ่งสามารถเสียภาษีได้นั้น คงจะเสียสละเพื่อความเจริญของท้องที่และของประเทศชาติ”[17]

เจตนารมณ์ของการแก้ไขภาษีในครั้งนี้รัฐบาลต้องการให้ระบบภาษีใหม่นี้มีหลักการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายภาษี (Ability to pay) ของประชาชนผู้รับภาระภาษี ซึ่งระบบภาษีก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบภาษีที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักการดังกล่าว แต่มุ่งใช้ภาษีในลักษณะของการสร้างความมั่งคั่งให้กับรัฐบาล ซึ่งแตกต่างจากภาษีในอดีต[18]

ผลสุดท้ายของการปฏิรูประบบภาษีโดยคณะราษฎรคือ การยกเลิกภาษีที่มีความซ้ำซ้อนกัน อาทิ ภาษีรัชชูปการ อากรค่านา อากรค่าสวน ภาษีไร่อ้อย และภาษีไร่ยาสูบ[19] ในขณะเดียวกันรัฐบาลในเวลานั้น ได้ประมวลภาษีขึ้นใหม่ให้เป็นระบบโดยมีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของประมวลรัษฎากรอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การปฏิรูปภาษีทำให้ระบบภาษีใหม่กลายเป็นหลักการของภาษีที่ “มีมากเสียมาก มีน้อยเสียน้อย ใช้มากเสียมาก ใช้น้อยเสียน้อย”[20]


เชิงอรรถ

[1] หนังสือสัญญากรุงเทพมหานครกับกรุงอังกริษเปนทางไมตรีค้าขายกัน ข้อ 8.

[2] หนังสือสัญญากรุงเทพมหานครกับกรุงอังกริษเปนทางไมตรีค้าขายกัน ข้อ 4.

[3] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ผลกระทบของสนธิสัญญาเบาว์ริงในทางเศรษฐกิจของสยาม [ออนไลน์], 26 กรกฎาคม 2564. pridi.or.th/th/content/2021/07/774

[4] พอพันธุ์ อุยยานนท์, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2564), น. 13-14.

[5] ดู เรื่องเดียวกัน, น. 14.

[6] ปัญหาของการจัดเก็บภาษีนี้เป็นเรื่องใหญ่และเร่งด่วนมาก เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองการจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี.

[7] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ประมวลรัษฎากร : การปรับปรุงระบบภาษีอากรที่เป็นธรรม [ออนไลน์], 10 ตุลาคม 2563. pridi.or.th/th/content/2020/10/450#_ftn2

[8] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, เงินรัชชูปการ ภาษีซึ่งเก็บจากความเป็นราษฎร [ออนไลน์], 26 ตุลาคม 2563. pridi.or.th/th/content/2020/10/470

[9] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ประมวลรัษฎากร : การปรับปรุงระบบภาษีอากรที่เป็นธรรม.

[10] พระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. 120 มาตรา 6. เดิมเงินรัชชูปการใช้คำเรียกว่า เงินค่าราชการ ก่อนจะเปลี่ยนไปเรียกเป็นเงินรัชชูปการในเวลาต่อมา เพียงแต่ลดข้อยกเว้นในการจ่ายเงินรัชชูปการลดลง.

[11] พระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. 120 มาตรา 6.

[12] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ประมวลรัษฎากร : การปรับปรุงระบบภาษีอากรที่เป็นธรรม.

[13] เรื่องเดียวกัน.

[14] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, เงินรัชชูปการ ภาษีซึ่งเก็บจากความเป็นราษฎร.

[15] คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม, แปลโดย ซิม วีระไวทยะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525), น. 32.

[16] สุพจน์ ด่านตระกูล, ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: สุขภายใจ, 2552), น. 197-198.

[17] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17/2481.

[18] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ประมวลรัษฎากร : การปรับปรุงระบบภาษีอากรที่เป็นธรรม.

[19] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17/2481

[20] สุพจน์ ด่านตระกูล, ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์, น. 196.

ปรับปรุง ‘กฎหมายวินัยการคลัง’ ใช้งบก่อนเลือกตั้งรัดกุม
ความอีหลักอีเหลื่อของระบบเศรษฐกิจภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย